บรรดาผู้นำในแถบแปซิฟิกเตรียมจัดการประชุมเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันศุกร์นี้ (18 พ.ย.) ที่กรุงเทพฯ โดยจะเน้นไปที่แนวทางการจัดการกับราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น ตลอดจนภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากสงครามของรัสเซียในยูเครน
ในระหว่างการประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) 21 ประเทศ บรรดาผู้นำมีแนวโน้มที่จะเห็นพ้องกันในการส่งเสริมการค้า, การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงเทพแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียจะไม่เข้าร่วมการประชุม เช่นเดียวกับที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันวานนี้ (16 พ.ย.) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารอาวุโสของสหรัฐระบุว่า นางแฮร์ริสจะเน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคนี้ และจะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปครายอื่น ๆ สนับสนุนวิสัยทัศน์ของสหรัฐในด้านกฎระเบียบทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายการทูตของจีนผ่านการบีบบังคับทางเศรษฐกิจและการวางกับดักหนี้
รายงานระบุว่า การประชุมเอเปคจะเป็นการประชุมสุดยอดชุดสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงพนมเปญ และการประชุมสุดยอด G20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย รวมถึงการเจรจาทวิภาคีและไตรภาคี
ทั้งนี้ กลุ่มเอเปคมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของการค้าโลกและคิดเป็น 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลก โดยเอเปคประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ไทย, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 65)
Tags: APEC 2022, ความมั่นคงพลังงาน