อุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เติบโตไปพร้อมกับความเจริญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เรียกได้ว่า ทุกที่ที่มีการพัฒนาก็ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมกะเทรนด์อย่าง Digital Economy หรือ พลังงานทดแทนต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าไฟฟ้ามีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิต จึงนับเป็นก้าวสำคัญของ บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค (KJL) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 13.50 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาทหุ้น โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย.นี้
*จากกิจการห้องแถวสู่โรงงานใหญ่
นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ในปี 31 KJL เริ่มต้นกิจการมาจากห้องแถวเล็ก ๆ จนเติบโตมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และได้ก่อตั้งเป็นบริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค ขึ้นมาในปี 39
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบริษัท แบ่งได้เป็น 4 ส่วนประกอบไปด้วย
1) สินค้าที่บริษัทเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า KJL โดยมีสินค้าหลักอย่าง ตู้ไฟสวิทช์บอร์ด, รางเดินสายไฟ, กล่องดึงสายไฟ เป็นต้น ซึ่งสินค้าแบรนด์ KJL คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักราว 60-70%
“แบรนด์ KJL จะมีจุดเด่นเรื่องการมีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานยุโรปหรือมาตรฐานในประเทศไทยหลาย ๆ ตัว และก็ยังมีจุดเด่นเรื่องความเร็วในการผลิต การส่งมอบที่ตรงเวลา เรามีสต็อกสินค้าพร้อมส่งให้ลูกค้า เรียกว่า KJL Now สั่งด่วนได้เร็ว สั่งเช้าได้บ่าย สั่งบ่ายได้เช้าอีกวัน นอกจากนี้ยังมีระบบหลังบ้านพวก ERP ในการคำนวณเรื่อง Re-Order Point รองรับการเติบโตอีกด้วย” นายเกษมสันต์ กล่าว
2) สินค้าสั่งผลิต (Made to Order) ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตู้ไฟสวิทช์บอร์ด และรางเดินสายไฟที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งลูกค้าของเราก็มีหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มโรงงาน โรงไฟฟ้า พลังงานทดแทน โรงแรม โรงพยาบาล งานสาธารณูปโภค งานโครงสร้างพื้นฐาน นับว่าสินค้าของ KJL เข้าไปได้ทุกอุตสาหกรรม
3) สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า ซึ่งในกรณีที่ลูกค้าไม่สะดวกประกอบงาน บริษัทก็มีให้บริการงานออกแบบ ประกอบ ติดตั้ง อุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าแบบครบวงจรด้วย
และ 4) สินค้าโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ ในรูปแบบหลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น ตู้เติมเงิน ตู้เติมน้ำมัน งานชิ้นส่วนเครื่องจักร งานรถพยาบาล งานเครื่องมือแพทย์ หรือ งานเฟอร์นิเจอร์โลหะเป็นต้น
ในส่วนของช่องทางจำหน่าย แบ่งเป็น 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1) ตัวแทนจำหน่าย เป็นลักษณะขายส่ง 2) ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นลักษณะขายปลีกไปยังช่างไฟ ผู้รับเหมารายย่อย 3) ผู้รับเหมางานระบบไฟฟ้า ที่นำสินค้าของบริษัทไปติดตั้ง และ 4) ลูกค้าระดับองค์กร ที่ต้องการนำสินค้าของบริษัทไปใช้
*ยกระดับคุณภาพมาตรฐานระดับโลก
การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric)” ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกนั้น ทาง KJL ได้รับ License Partner Agreement ตั้งแต่ปี 63 ซึ่งเป็นการอนุญาตให้บริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายตู้ไฟสวิทซ์บอร์ดรุ่น Prisma iPM ที่ได้มาตรฐานตัว IEC-61439 ซึ่งเป็น Manufacturing Partner เป็นผู้ผลิตให้กับพาร์ทเนอร์ในการนำไปประกอบติดตั้งอีกที
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า งานที่ KJL ผลิตให้แบรนด์ระดับโลกของต่างประเทศ นอกจาก Schneider Electric แล้ว ก็ยังมีแบรนด์ Bticino ของอิตาลี รวมถึงงาน OEM จากลูกค้าที่หลากหลายทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่นด้วย
*ตอกย้ำความสำคัญ ทุกอุตสาหกรรมต้องใช้ไฟฟ้า
“อย่างที่ทุกคนทราบว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการเติบโตไปพร้อมกับความเจริญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ คือทุกที่ที่มีความเจริญ มีการพัฒนา ก็ต้องใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น และที่สำคัญก็คือการเกิด Digital Economy ในประเทศไทยมากขึ้น ก็ยิ่งเกิดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น สอดรับไปกับเมกะเทรนด์อย่าง More Electrifying Future ก็คืออนาคตที่มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว
สำหรับการแข่งขันในธุรกิจนี้ บริษัทพยายามสร้างสนามของตัวเองเพื่อไม่ต้องแข่งขันโดยตรงกับคู่แข่ง เช่น บริษัทมีสินค้าที่มีคุณภาพ มีการจัดส่งที่รวดเร็ว ซึ่งในตลาดที่แข่งขันกันเรื่องราคาจะเน้นที่ราคาถูก คุณภาพก็จะสู้ของบริษัทไม่ได้ และสินค้าของเราเป็น High Mix Low Volume ก็คือสินค้าที่มีความหลากหลายแต่จำนวนน้อย ก็จะเป็น Barrier to Entry ที่ดีในการที่ต่างประเทศต้องการนำสินค้าเข้ามาก็จะค่อนข้างยาก
*ราคาเหล็กผันผวนไม่กระทบ กำไรโตต่อเนื่องแม้เจอวิกฤต
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนทราบถึงการปรับตัวขึ้นของราคาวัตถุดิบโดยเฉพาะงานโลหะ งานเหล็กต่าง ๆ ซึ่งทางบริษัทได้มีการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อราคาที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ในอีกส่วนหนึ่งก็มีการค่อย ๆ ทยอยปรับขึ้นราคาขายกับลูกค้า เพื่อลดผลกระทบต่อลูกค้าและอีกมุมหนึ่งก็ไม่ให้กระทบผลประกอบการของบริษัทด้วย
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ KJL ที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยปี 62-64 มีรายได้รวมอยู่ที่ 753.67 ล้านบาท 708.18 ล้านบาท และ 845.78 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5.93 ต่อปี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.49 ล้านบาท 90.97 ล้านบาท และ 94.04 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ทิศทางธุรกิจในปี 65 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการ 6 เดือนแรก บริษัทมีรายได้จากการขาย 502.89 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.79 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 424.92 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 47.87 ล้านบาท
*เข้าตลาดหุ้นฯ เพิ่มกำลังผลิต กางแผนพัฒนาศูนย์นวัตกรรม
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็จะนำมาใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร ปัจจุบันอาคารโรงงานกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ และเครื่องจักรที่จะนำเข้ามาติดตั้ง ก็จะติดตั้งช่วงไตรมาส 1- 2/66 ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นมาราว 20%
“ปัจจุบันบริษัทมีอาคารโรงงานจำนวน 2 อาคารเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า กำลังการผลิตรวมเท่ากับ 20 ล้านชิ้นต่อปี และคลังสินค้าจำนวน 2 อาคาร ซึ่งทั้งโรงงานและคลังสินค้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร” นายเกษมสันต์กล่าว
อีกส่วนหนึ่งจะใช้ในการลงทุนศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 66 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 68 ซึ่งเป็นศูนย์ที่จะใช้สำหรับพัฒนาทดลองผลิตสินค้าต่าง ๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ พร้อมทั้งต่อยอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังใช้เงินจากการระดมทุนเพื่อลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นอีกด้วย
“การเข้าตลาดฯ ก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักและสร้าง Brand Awareness มากขึ้น รวมถึงทำให้เรารู้จัก Strategic Partner ต่าง ๆ ที่มีความสามารถ ที่จะเข้ามาร่วมผลิตและขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมกับเรา สอดรับไปกับการเติบโตของตัว New S-curve ของเมกะเทรนด์เรื่องไฟฟ้าเอง หรือ Creative Economy ในประเทศไทย”นายเกษมสันต์กล่าว
*เดินหน้าคว้าโอกาส ทุกที่ที่มีไฟฟ้าก็จะมีสินค้าของ KJL
นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า แผนงานในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า มองที่การขยายกำลังผลิตปีละ 10-15% ซึ่งกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น ก็จะสอดคล้องไปกับรายได้ที่จะเติบโตขึ้นเช่นกัน รวมถึงวางแผนพัฒนาสินค้าร่วมกับทั้งพาร์ทที่มีอยู่เดิมและพาร์ทเนอร์ใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น สนับสนุนการเติบโตของบริษัทอย่างแข็งแกร่ง
“เราคิดว่าในอนาคตก็ค่อนข้างมีสถานการณ์ที่แปรปรวน เราก็ทำให้บริษัทมีการยืดหยุ่นตลอดเวลา มีโอกาสตรงไหนเราก็ไปจับโอกาสตรงนั้น ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นส่วนที่ใหญ่อยู่แล้วอย่างที่ทราบกัน ทั้งเมกะเทรนด์อย่างอุตสาหกรรมดิจิทัล พลังงานทดแทน Solar Rooftop หรือแม้กระทั่งตัวรถยนต์ไฟฟ้า EV และเราก็มี Vision หลักอย่าง Electrifying your World ขับเคลื่อนไฟฟ้าเพื่ออนาคตคุณ เราจะเป็นเบื้องหลังในการขับเคลื่อนไฟฟ้าไปยังทุกจุดทุกที่ ดังนั้นทุกที่ที่มีไฟฟ้าก็จะมีสินค้าของ KJL” นายเกษมสันต์กล่าว
*กำไรโตเด่น พร้อมเป็นทั้ง Growth และ Dividend Stocks
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ KJL กล่าวว่า จุดเด่นของ KJL คือผลกำไรที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น Gross Margin หรือ Net Margin ก็สูงกว่าบริษัทคู่แข่งรายอื่นในตลาดที่ทำธุรกิจเดียวกันค่อนข้างมาก นับว่าเป็นการเติบโตที่น่าประทับใจ
และประเมินว่าธุรกิจของ KJL เป็นสิ่งที่อินเทรนด์ในปัจจุบัน แน่นอนว่าโลกในอนาคตมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวทั้งในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าก็มีความต้องการมากขึ้น ซึ่งสินค้าของ KJL ก็มีหลายไซส์หลายแบบ และยังมีจุดเด่นที่แบรนด์ของ KJL ที่มีคุณภาพค่อนข้างสูงอีกด้วย
“KJL คงจะเป็นหุ้นผสมผสานอย่างหนึ่ง ก็คือในตัวธุรกิจหลักของเขา ด้วยความที่มีแบรนด์ที่แข็งแรง มันอาจจะเป็น Cash cow ของเขาได้ และมันก็ขยายตัวไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ตรงนี้ก็สามารถจ่ายออกมาเป็นปันผล และถ้าเรามองไปในอนาคตอีกส่วนหนึ่งก็มี New S-curve มีธุรกิจที่ผู้บริหารอยากจะไปขยายตัวไป เพราะฉะนั้นมันก็มองได้สองทางว่าจะเป็น Growth หรือ Dividend ก็ได้” นายพายุพัด กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 65)
Tags: IPO, IPOInsight, KJL, กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค, หุ้นไทย, เกษมสันต์ สุจิวโรดม