พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษงาน “APEC University Leaders’ Forum (AULF)” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022 โดยมีผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน The Association of Pacific Rim Universities หรือ APRU ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิค 60 แห่ง จาก 19 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเปค มาร่วมประชุมกันในครั้งนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานวันนี้ถือเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่างๆ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป
สำหรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ เรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด “Open Connect Balance” เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 โดยในข้างหลัง ซึ่งผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากความสำคัญด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขยายไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจ จะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือ การทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา ความถูกต้องของข้อมูล และการเผยแพร่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอม อีกทั้ง การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีน
ด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง “การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า” เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคการศึกษาทั้งหมด ที่ได้ร่วมมือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test รวมถึงนวัตกรรมการรักษา “วัคซีนใบยา” ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้น และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงวิชาการในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หวังว่าการพบกันครั้งนี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จและได้เชิญชวนผู้ร่วมงานไปชมนิทรรศการ นำเสนอความสำเร็จ การขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจ BCG ที่จัดแสดงในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมบอกว่าต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน วันนี้สำคัญที่สุด คือต้องสร้างสันติสุขในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดทุกเรื่องทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นเราต้องรักกัน และขอต้อนรับด้วยรอยยิ้มสยาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณบรรดาผู้นำด้านการศึกษาที่เข้าร่วมงาน ขณะที่ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก และอธิบดีมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า “I like your smile” ซึ่งนายกรัฐมนตรี ตอบว่า “Thank you” พร้อมทำสัญลักษณ์มือ I love you ก่อนขึ้นรถและเปิดหน้ากากอนามัยโชว์รอยยิ้มสยาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 65)
Tags: APEC, AULF, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประยุทธ์ จันทร์โอชา