นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมตัวในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคมายาวนาน ตั้งแต่รับทราบวาระมาตั้งแต่ปี 2563 โดยกระทรวงต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของรัฐบาล และเอกชน ได้ทำงานและเตรียมการอย่างหนักด้วยความตระหนักถึงผลลัพธ์ว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชนคนไทยมากที่สุดได้อย่างไร
รัฐบาลไทยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ในการกำหนดหัวข้อหลักให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open Connect Balance”
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการและกำกับการทำงาน โดยคำนึงถึงหลักการที่สำคัญ ดังนี้
ประการแรก เกี่ยวกับการหารือที่จะส่งผลให้ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธุรกิจทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ได้เข้าถึงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่ การเร่งฟื้นฟูการเดินทางภายหลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การส่งเสริมเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ประการที่สอง เกี่ยวกับการหาช่องทางให้ไทยได้แสดงศักยภาพ และความพร้อมให้โลกได้เห็นผ่านความสำเร็จในการจัดประชุมตลอดทั้งปี ซึ่งไทยต้องจัดการประชุมท่ามกลางความท้าทาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ที่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่จัดแบบพบหน้า เป็นโอกาสให้ผู้นำเอเปคได้เดินทางมาพบหน้ากัน
ประการที่สาม เกี่ยวกับการหาโอกาสและช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยในสัปดาห์การประชุมเอเปคจะมีผู้นำ และผู้แทนจากต่างประเทศเดินทางมาเยือนไทยประมาณ 3,000 คน และสื่อต่างชาติอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งทุกคนจะได้เห็นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นำไปสู่โอกาสการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น จะเป็นโอกาสในการนำเสนอภาพความโดดเด่นทางวัฒนธรรม อาหาร การแสดง และเอกลักษณ์ความสวยงามของไทยจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งในการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ยังมีการประชุมที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ ได้แก่ APEC CEO summit, ABAC, APEC SME ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยได้ต้อนรับผู้นำจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจ และเป็นแขกพิเศษ ได้แก่ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ จะมีการลงนามความตกลงทวิภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยอีกหลายฉบับ เป็นโอกาสให้รัฐบาลได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมความยั่งยืน นวัตกรรม ควบคู่ไปกับศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม โดยการประชุมนี้จะจัดแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green meeting) เช่น รถยนต์ที่ใช้รับรองผู้นำ จะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในส่วนของการประชุมจะลดการใช้กระดาษให้มากที่สุด นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการตกแต่งสถานที่ และขยะพลาสติกในงานจะถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล
“รัฐบาลและผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชาสัมพันธ์โอกาส ประโยชน์ รูปแบบ และความพร้อมของการจัดการประชุมเอเปค 2022 อย่างต่อเนื่อง ทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไชต์ โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม และช่องทางการนำเสนอต่างๆ ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในประเทศรับรู้ ซึ่งขอย้ำแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด” นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 65)
Tags: APEC 2022, กระทรวงต่างประเทศ, ประชุมเอเปค, อนุชา บูรพชัยศรี