ครม.เห็นชอบ MOU ไทย-ซาอุฯ ด้านการท่องเที่ยว-พลังงาน, ยกเว้นวีซ่าหนังสือเดินทางทูต-ราชการ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย และรมว.ต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ กำหนดให้ประชาชนของประเทศคู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการที่มีผลใช้ได้ของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางพิเศษที่มีผลใช้ได้ของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย จะต้องเดินทางผ่าน พำนัก และเดินทางออก จากดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ต้องรับการตรวจลงตราเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 90 วัน ในช่วงระยะเวลา 180 วัน นับจากวันแรกที่เดินทางเข้า โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเหล่านั้นจะไม่ทำงานใด ไม่ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ส่วนตัวใด

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มที่การติดต่อระหว่างหน่วยงานราชการและนักธุรกิจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“สำหรับซาอุดิอาระเบียแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรือภาคเอกชนจำนวนมากที่เป็นราชวงศ์ มักจะถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางพิเศษ อีกทั้งการทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของทั้ง 2 ประเทศได้เป็นอย่างมาก” รองโฆษกรัฐบาล กล่าว

นอกจากร่างบันทึกความเข้าใจข้างต้น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย พร้อมลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 อีก 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก คือ ร่างบันทึกความเข้าในว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคในสาขาท่องเที่ยว ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ เช่น 1) ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น 2) แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและพัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวและบริการ 3) ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม เป็นต้น

ส่วนฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกรอบความร่วมมือระหว่างคู่ภาคีในสาขาพลังงาน ภายใต้สาขาความร่วมมือ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมด้านพลังงาน การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรผ่านการฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน การขับเคลื่อนของคู่ภาคีมีหน้าที่ เช่น จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำข้อเสนอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจนี้ แต่ละภาคีจะรับผิดชอบต้นทุนทางการเงินตามความตกลงนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top