Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 66-67 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยจะยังขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง สำหรับทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 66-67 ได้แก่
– ข้าว ในปี 66-67 ตลาดส่งออกข้าวยังคงฟื้นตัว โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 7.7 และ 8.0 ล้านตัน ตามลำดับหรือเพิ่มขึ้น 2.5%YoY และ 4.1%YoY ตามลำดับ (ปรับดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนที่อยู่ที่ 7.2 และ 7.6 ล้านตัน จากค่าเงินบาทในปี 66-67 ที่จะอ่อนค่ากว่าที่คาดไว้เดิม และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ) แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หากเทียบกับในช่วงปี 57-61 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน
ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงต้องแข่งขันรุนแรงกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย อีกทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกสำคัญอย่าง ไทย เวียดนาม และอินเดีย มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ยิ่งทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ความต้องการสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มมีแนวโน้มลดลง จากการตีตลาดของข้าวพันธุ์พื้นนุ่มจากเวียดนามที่มีราคาถูกและรสชาติดี จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสามารถต่อรองและกดราคาข้าวไทยลงได้อีก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อ Margin ของผู้ส่งออก
– ยางพารา ปี 66-67 คาดว่า มูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 1.42 และ 1.33 แสนล้านบาท ลดลง 5.0%YoY และ 6.0%YoY ตามลำดับ เป็นผลจากทั้งราคาส่งออกที่ลดลง และปริมาณส่งออกที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยคาดว่าราคาส่งออกจะลดลง 7.0% และ 8.0%
ทั้งนี้ เนื่องจากผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 2.28 ล้านตัน และ 2.32 ล้านตัน หรือขยายตัวเพียง 2.0%YoY และ 2.0%YoY ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีน อาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่เติบโตแผ่วลง
สำหรับในปี 66-67 คาดว่ามูลค่าส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 5.10 และ 5.13 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวต่ำ 0.4%YoY และ 0.6%YoY ตามลำดับ ซึ่งมีปัจจัยกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลง 7.0% และ 8.0% แม้ปริมาณส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ 8.0%YoY และ 9.0%YoY ตามลำดับ จากปัญหาอุปทานส่วนเกินถุงมือยางโลกที่บรรเทาลง อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางทางการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น ท่อยางและสายสวนทางการแพทย์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก
– ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง ในปี 66-67 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจะอยู่ที่ 2.4 และ 2.6 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 13.9%YoY และ 11.7%YoY ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้เมืองร้อนจากไทย ประกอบกับความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับจีน ทำให้ไทยได้รับยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง อีกทั้งคาดว่า ในระยะข้างหน้าการส่งออกผลไม้ของไทย จะได้รับประโยชน์จากการขนส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ซึ่งสามารถลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง
อย่างไรก็ดี การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งไปจีน เผชิญปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่มากขึ้น ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ประกอบกับยังต้องติดตามการเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานการส่งออกผลไม้ ที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนสวนและโรงงานผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP
รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีน และสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อโควิด-19 การกำหนดให้มีใบรับรองสุขอนามัยพืช การกำหนดปริมาณสารตกค้างขั้นสูงสุด การควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงมาตรฐานรูปแบบฉลากที่แสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อกำหนดบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ กรณีที่จีนปลูกทุเรียนสำเร็จจะเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อการเติบโตของการส่งออกทุเรียนไทยตั้งแต่ปี 67
– มันสำปะหลัง ในปี 66-67 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะอยู่ที่ 6.5 และ 6.7 ล้านตัน ขยายตัว 4% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 5.2 และ 5.5 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 4% ต่อปี เนื่องจากสต็อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) มีทิศทางลดลง ทำให้ราคาข้าวโพดจีนแพงกว่าราคาส่งออกมันสำปะหลังของไทยค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนยังมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย แต่ผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว
ทั้งนี้ ในปี 66-67 ราคาเฉลี่ยมันเส้นและแป้งมันทั้งในประเทศและราคาส่งออกจะลดลงจากปี 65 แต่ยังอยู่ในระดับสูง ตามทิศทางราคาข้าวโพดตลาดโลก อีกทั้งผลผลิตหัวมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 32.5 และ 33.2 ล้านตัน ตามลำดับ หลังราคาหัวมันสด ในปี 66 ยังจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะอยู่ที่ 7.3-8.0 บาท/กก. และ 240-250 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ ขณะที่ราคาเฉลี่ยแป้งมันในประเทศและราคาส่งออกจะอยู่ที่ 14.4-14.9 บาท /กก. และ 440-480 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ
– ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ในปี 66-67 คาดว่า ปริมาณส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปจะอยู่ที่ 1.01 และ 1.04 ล้านตัน หรือขยายตัว 3.1%YoY และ 3.0%YoY ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปยังขยายตัวได้ เพราะได้อานิสงส์จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกไก่จากยูเครนเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าไก่จากยูเครนกว่า 20% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด เช่นเดียวกับการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น
สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จะยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปยังซาอุฯ เนื่องจากซาอุฯ เป็นประเทศผู้นำเข้าไก่รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ประกอบกับภาครัฐของไทยมีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไก่ ซึ่งเป็นไก่ฮาลาล ไปยังซาอุฯ เพิ่มขึ้น หลังจากการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตทั้ง 2 ประเทศ
Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 66 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
1. ความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักสินค้าเกษตรไทย อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าเกษตรกลุ่มที่เคยเติบโตดีในปีที่ผ่านมาจะเริ่มขยายตัวชะลอลง เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยาง ในการขยายตลาดรองที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดซาอุดีอาระเบียที่ได้รับผลดี จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก รวมทั้งภาครัฐได้เดินหน้าจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ได้แก่ ซาอุฯ บาห์เรน โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และคูเวต
2. มาตรการ Zero-COVID ของจีน ทำให้ทางการจีนเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจีนจะยังคงใช้มาตรการ Zero-COVID ต่อไปจนถึงปี 66 ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น และหากปรับตัวได้ช้า ก็อาจเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม อย่างไรก็ดีมาตรการดังกล่าวส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มน้ำยางข้นและถุงมือยาง
3. ต้นทุนวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่แม้จะปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง จะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก เช่น การผลิตปุ๋ยเคมี การผลิตทูน่ากระป๋อง โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากอยู่แล้ว
4. แรงกดดันด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ภาครัฐปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมีผล 1 ต.ค. 65 อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำประมง เช่น อาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น ที่ในกระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำอาจลดการจ้างงาน หรือทำให้ต้องหยุดการผลิต
5. ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งแม้ในเบื้องต้นประเมินว่าอุทกภัยในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่าในปี 54 แต่หากสถานการณ์อุทกภัยขยายวงกว้างและรุนแรง ก็อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าที่คาดไว้เดิม
Krungthai COMPASS ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในไตรมาส 3 ปี 65 ว่า ยังคงขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยภาพรวมขยายตัวที่ 7.1%YoY เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึง 20.4%YoY โดยมีสาเหตุจากตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 29% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัว เนื่องจากทางการจีนใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่นำเข้าสู่จีนต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดจนเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง อีกทั้งยังส่งผลให้การบริโภคในจีนชะลอตัวลงจากการกักตัวที่ยังคงมีอยู่
ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรในไตรมาส 3 ปี 65 หดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 63 อยู่ที่ 3.0%YoY โดยตลาดจีนหดตัวถึง 22.6%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่หดตัวลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว และไก่ ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปขยายตัวถึง 28.7%YoY จากความต้องการนำเข้าที่มีทิศทางฟื้นตัวหลังจากการทยอยเปิดประเทศ โดยเฉพาะไก่แปรรูป ที่ขยายตัวถึง 137.2%YoY
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 21.2%YoY โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้ากลุ่มน้ำตาลทรายที่ได้รับผลดีจากราคาส่งออกและปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังคงขยายตัว โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ที่ได้รับผลบวกจากความกังวลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้หลายประเทศมีความต้องการกักตุนสินค้าเพื่อใช้ในการบริโภค รวมถึงฐานที่ต่ำในปีก่อน
อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกจะได้รับปัจจัยหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า และผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้คู่ค้าเร่งนำเข้าสินค้าในกลุ่มอาหาร แต่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Zero-COVID ทำให้การส่งออกไตรมาส 3 ขยายตัวในอัตราที่ลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 65)
Tags: krungthai COMPASS, KTB, ธนาคารกรุงไทย, ส่งออก, สินค้าเกษตร, เศรษฐกิจโลก