ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ให้เฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ “เดลตาครอน XBC” หรือลูกผสมระหว่างโควิดสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน BA.2 โดยพบการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย และกลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตาเดลตาครอน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปลายปีที่ 3 ซึ่งโอมิครอนกำลังอ่อนกำลังลง และดูเหมือนเดลตาครอนหลายสายพันธุ์ กำลังระบาดขึ้นมาแทนที่ เช่น XBC, XAY, XBA และ XAW โดยเฉพาะเดลตาครอน XBC ที่มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโควิด-19 สายพันธ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากที่สุดถึงกว่า 130 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมของเดลตาครอน พอจะประเมินได้ว่า เป็นไวรัสโควิดที่มีศักยภาพในการโจมตีปอดอย่างเดลตา และอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือนโอมิครอน
เมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา มีรายงานการตรวจพบเดลตาครอน ในประเทศฟิลิปปินส์ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ได้สูญหายไป ไม่เกิดการระบาดรุนแรงขยายวงกว้าง แต่มาในช่วงปลายปี 65 พบเดลตาครอนในประเทศฟิลิปปินส์อีกครั้ง ในรูปแบบของโควิดสายพันธุ์ XBC, XBA, XAY และ XAW ระบาดขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) ลูกผสมเดลตา-โอมิครอน อาจมีอันตรายพอๆ กับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งคร่าชีวิตผู้ที่ติดเชื้อไปประมาณ 3.4% สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของโอมิครอนเกือบสองเท่า ตามผลการศึกษาในปี 65 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Reviews Immunology นอกจากนี้ เดลตาครอน อาจมีความสามารถในการแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับโอมิครอน
อย่างไรก็ตาม การทำนายความรุนแรงของสายพันธุ์ลูกผสม หรือสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าเหตุใดโอมิครอนจึงดูเหมือนจะก่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดลตา ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมโควิด-19 จึงเปลี่ยนจากโรคทางเดินหายใจส่วนล่าง ในช่วง 2 ปีแรกที่เดลตาและสายพันธุ์ก่อนหน้าระบาด มาเป็นโรคทางเดินหายใจส่วนบน ที่มีความรุนแรงลดลงในปีที่ 3 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือไปจากโปรตีนหนาม ซึ่งไวรัสใช้ในการเกาะติดเซลล์ของมนุษย์ และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยควรกังวล เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในอาเซียนที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB จำนวนถึง 81 ราย พร้อมไปกับพบลูกผสม XBC ใน 11 จังหวัด ถึง 193 ราย ในขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเชีย บรูไน กัมพูชา ก็พบ XBB และ XBC ด้วยเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์อาเซียน ได้ช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 และแชร์ไว้บนฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก GISAID โดยพบลูกผสม XBB ในประเทศสิงคโปร์ 1,137 ราย คิดเป็น 12.154%, อินโดนีเซีย 90 ราย คิดเป็น 0.623%, บรูไน 77 ราย คิดเป็น 4.254%, มาเลเซีย 32 ราย คิดเป็น 0.358%, ฟิลิปปินส์ 20 ราย คิดเป็น 0.490% และกัมพูชา 1 ราย คิดเป็น 0.197%,
ส่วนประเทศที่พบลูกผสม XBC ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 35 ราย คิดเป็น 0.857%, บรูไน 15 ราย คิดเป็น 0.829%, สิงคโปร์ 1 ราย คิดเป็น 0.011% และมาเลเซีย 1 ราย 0.011% ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก GISAID ยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสม “XBB” และ “XBC” ในประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, เดลตาครอน, เดลตาครอน XBC, โควิด-19, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โอมิครอน, โอมิครอนสายพันธุ์ XBB