BEM เผยกำไร Q3/65 นิวไฮตามปริมาณเดินทางเพิ่มขึ้น รับภาพรวมศก.ฟื้น

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 3/65 โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 863 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 755 ล้านบาทหรือ 699% ที่มีกำไรสุทธิ 108 ล้านบาท

และมีรายได้จากการดำเนินงาน จำนวน 3,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 1,585 ล้านบาท หรือ 73.6% โดยรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น จำนวน 868 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารและรับจ้างเดินรถเพิ่มขึ้น จำนวน 651 ล้านบาท และรายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น จำนวน 66 ล้านบาท

จากปัจจัยบวกหลังการเปิดประเทศที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการกลับมาทำงานของภาคธุรกิจ การกลับมาเรียน on site ของสถาบันการศึกษา และยอดนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขกำไร 863 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปีนี้เป็นตัวเลข New High นับตั้งแต่ปี 63 ที่มีการระบาดของโควิด

นายสมบัติ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,069,102 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 59.7% และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปริมาณผู้โดยสารในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 312,663 เที่ยว เพิ่มขึ้น 292.4% โดยมั่นใจว่าการฟื้นตัวครั้งนี้เป็นแบบ V Shape แน่นอน

นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เพื่อพิจารณาเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และพิจารณาการเข้าทำสัญญาว่าจ้างบมจ. ช.การช่าง (CK) เป็นผู้บริหารและก่อสร้างงานโยธา (ช่วงตะวันตก) และผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินทางรถไฟฟ้า (ช่วงตะวันออกและตะวันตก) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ทั้งนี้การลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะทำให้บริษัทเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และขยายโครงการเครือข่ายของระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าที่บริษัทบริหารอยู่ในปัจจุบันให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการที่มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าภายใต้สัมปทานของบริษัท BEM มีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินงานได้ทันที หลังจากลงนามสัญญา และมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของ BEM ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญาเป็นไปตามแผนหรือก่อนแผนเสมอ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top