กกพ.เปิด 3 ทางเลือกปรับค่า Ft งวดม.ค.-เม.ย.66 ส่งผลค่าไฟขึ้น 5.37-6.03 บาท/หน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 51/2565 (ครั้งที่ 818) เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2565 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบ พ.ค.-ส.ค.2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.

นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. แบกรับในกรณีต่างๆ ดังนี้

กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น เอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช กล่าวว่า การประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่อง กระบวนการ และขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ตามผลการคำนวณของ กฟผ. ประกอบด้วย

1. การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 เท่ากับประมาณ 67,833 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 3,724 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,091 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 54.20 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 13.81 และ ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.46 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 6.25 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 3.48 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.73 น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 6.31 และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.75

3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1-30 ก.ย. 65) เท่ากับ 37.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งอ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ที่ประมาณการไว้ที่ 34.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐอยู่ 2.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.75)

นายคมกฤช กล่าวว่า สถานการณ์ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่อ่อนไหวและยังคงผันผวนอยู่ในระดับราคาที่สูงตามสถานการณ์ราคา LNG และราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและค่าเอฟทีเรียกเก็บตลอดปี 66 ดังนี้

1. ความไม่แน่นอนของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและแนวโน้มที่จะสามารถจ่ายก๊าซจากแหล่งเอราวัณเข้าสู่ระดับปกติหรือใกล้เคียงปกติเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการนำเข้า LNG มาทดแทน

2. การลดลงของแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตะวันตก (ในเมียนมา) โดยอาจจะต้องนำก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เข้ามาทดแทนในปริมาณมากขึ้นเพื่อทดแทนหรือหาแหล่งพลังงานรูปแบบอื่น เช่น พลังน้ำหรือ พลังงานหมุนเวียนอื่นๆเข้ามาทดแทน

3. สภาวะราคา LNG ในตลาดโลกมีการแกว่งตัวในระดับที่สูงถึงสูงมากเนื่องจากอุปสงค์ (Demand) ของ LNG ในตลาดโลกยังคงมีมากกว่าอุปทาน (Supply) และตลาดอาจจะมีลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566 อันเป็นผลต่อเนื่องจากที่ยุโรปลดการนำเข้าก๊าซทางท่อจากรัสเซียและหันไปซื้อ LNG ในตลาดจรแทนและการทยอยพื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นรวมทั้งประเทศไทย

4. อัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ) ยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิงและค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า กฟผ. และ IPP ที่เพิ่มขึ้น

5. การใช้นำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติสามารถลดการนำเข้า LNG ได้แต่การใช้น้ำมันยังคงมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในระดับสูงเมื่อเที่ยบกับสถาณการณ์ปกติ

6. ข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟผ. เป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้ไม่สามารถตอบสนองภาคนโยบายในการตรึงค่าเอฟทีได้ในระยะยาว

สำนักงาน กกพ. จึงขอเรียกร้องให้มีการมีการบริหารการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า LNG หรือลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อให้สามารถบริหารและสามารถควบคุมต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตราคาพลังงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กกพ. ได้พิจารณาทบทวนอัตราค่าบริการรายเดือนที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในระหว่างวันที่ 3 – 17 ต.ค. 2565 แล้ว เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าบริการรายเดือนลดลงสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท ดังนี้

เดิม ใหม่

1. ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย 38.22 บาท/เดือน 24.62 บาท/เดือน

ประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU 38.22 บาท/เดือน 24.62 บาท/เดือน

2. กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ 46.16 บาท/เดือน 33.29 บาท/เดือน

3. กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU 228.17 บาท/เดือน 204.07 บาท/เดือน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะเร่งดำเนินการประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อให้การปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็กอีกทางหนึ่งด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top