นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า โรคโควิด-19 มีแนวโน้มพบเพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเข้าสู่โรคตามฤดูกาล โดยการระบาดของโรคสำหรับประเทศไทยจะพบมากในฤดูฝน และช่วงปลายปีจนถึงต้นปีอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับการระบาดในสมัยไข้หวัดใหญ่ 2009
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคลดลง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน มียาที่ใช้รักษาที่ดีขึ้นกว่าช่วงแรกๆ คือ โมลนูพิราเวียร์, แพกซ์โลวิด และเรมเดซิเวียร์ และปัจจุบันยาสำหรับโควิด-19 ก็หาได้ง่ายกว่าเมื่อต้นปีมาก
สำหรับจำนวนการฉีดวัคซีนขณะนี้ น้อยกว่าธรรมชาติที่ฉีดวัคซีนให้หรือการติดเชื้อ ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันในประชากรเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี โดยหลักการแล้วอยากให้ประชากรไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ไม่แตกต่างกัน ส่วนใครได้มากกว่า 3 เข็มแล้ว ถ้าเข็มสุดท้ายได้รับมาแล้วนานเกินกว่า 6 เดือน ระดับภูมิต้านทานที่เหลืออยู่จะไม่เพียงพอ ก็ควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งหนึ่ง
นพ.ยง กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนไม่ได้ขาดแคลน จึงอยากเชิญชวนให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะรุนแรง ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ถ้าฉีดเข็มสุดท้ายมาเป็นเวลานานแล้ว 4-6 เดือนขึ้นไป เพื่อช่วยความจำของร่างกาย และเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคจากทุกสายพันธุ์
“การระบาดในครั้งนี้ จะยาวไปถึงเดือนก.พ. และหลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลงต่ำมากๆ แล้วจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งคาดว่าในปีหน้า ประชากรเกือบทั้งหมดก็น่าจะมีภูมิต้านทานแล้ว ดังนั้น ในขณะนี้ถ้าไม่ได้กระตุ้นด้วยวัคซีนธรรมชาติ การติดเชื้อก็จะกระตุ้นให้ อย่างไรก็ดี การติดเชื้ออาการแทรกซ้อน จะมากกว่าการฉีดวัคซีน” นพ.ยง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, ฉีดวัคซีนโควิด, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนเข็มกระตุ้น, โควิด-19, โรคตามฤดูกาล