นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN Global Dialogue ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและมีความยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 (Building Resilient and Sustainable ASEAN in the Post COVID-19 Era)” ซึ่งเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary) โดยมีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานการประชุม ประกอบด้วย 25 ประเทศ/หน่วยงาน 9 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน แคนาดา อินเดีย รัสเซีย สหภาพยุโรป และผู้แทนระดับสูงจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิก (ESCAP) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเข้าร่วมโดยส่งข้อความผ่านการบันทึกเทปล่วงหน้า
การประชุมดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 จากที่เคยจัดเมื่อปี 2555 ซึ่งกัมพูชารื้อฟื้นกรอบการประชุมนี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเสนอวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับการฟื้นตัวที่ยั่งยืนจากวิกฤตโควิด-19 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศและร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศ และส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
โดยนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมการรื้อฟื้นการประชุมนี้ เพื่อให้ผู้นำอาเซียนและผู้แทนระดับสูงจากองค์การระหว่างประเทศได้แลกเปลี่ยนทัศนะและร่วมกันหาแนวทางการฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โลกกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ยังมีความท้าทายอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า อาเซียนจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนแก่ประชาชน โดยส่งเสริมความสมดุลและความยั่งยืนอย่างแน่วแน่ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวต่อสภาวการณ์ต่างๆ และประคับประคองตนเองในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและไม่คาดคิด
นายกรัฐมนตรีนำเสนอกุญแจสำคัญ 3 ดอก เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่น ปรับตัว และยั่งยืน ดังนี้
1.การให้ประชาชนเป็นหัวใจของทั้งการฟื้นฟูในระยะสั้นและการพัฒนาในระยะยาว โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาวะและการสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ดีให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ รุนแรงที่สุด การลงทุนระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นมาตรการที่คุ้มทุน เพื่อวางรากฐานให้ประชาชนสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้
2.การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเน้นการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่ง ซึ่งไทยขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และในฐานะประธานเอเปคได้กำหนดแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” มีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นพื้นฐานส่งเสริมความร่วมมือนำไปสู่การเติบโต เน้นสร้างสมดุลมากกว่าสร้างผลกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
3.การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในทุกระดับ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาค ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพ และการระดมทุน ในสาขาที่อยู่ในความสนใจและเป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมได้
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า เมื่อทุกประเทศเห็นผลประโยชน์ร่วมกันและร่วมมือกันมากขึ้นจะช่วยส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและในโลก การร่วมแรงร่วมใจ จะทำให้กลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมหลังวิกฤตโควิด-19 โดยกุญแจสามดอกนี้จะช่วยส่งเสริมให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้ยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะร่วมมืออนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และขับเคลื่อนภูมิภาคของเราให้เติบโตอย่างสมดุล มีภูมิคุ้มกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 65)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อนุชา บูรพชัยศรี, โควิด-19