นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีแพนเนล (CPANEL) มั่นใจปี 65 ผลประกอบการเติบโตมากกว่า 25% ทำนิวไฮ (New High) อย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพการเป็น “Construction Tech” ชูจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่สามารถออกแบบปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะการคุมต้นทุนก่อสร้างในยุควัสดุ-ค่าแรงพุ่ง พร้อมขยายโอกาสรับงานโครงการจากที่เคยเน้นบ้าน-คอนโดมิเนียม สู่อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม และโรงพยาบาล รับปริมาณงานเพิ่มหลังกิจกรรมเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้น
ขณะที่มองว่าที่ตั้งฐานการผลิตในภาคตะวันออกและความชำนาญพื้นที่ รวมถึงข้อได้เปรียบด้านการขนส่ง จะเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการรับงานในพื้นที่ EEC หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใน EEC พร้อมเร่งดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดีมานด์การก่อสร้างในพื้นที่พุ่งสูงขึ้น เป็นโอกาสสำคัญสำหรับ CPANEL ที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากระยะต่อจากนี้
นายชาคริต กล่าวว่า ปี 65 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 25% ซึ่งแค่เพียงครึ่งปีก็เติบโตไปแล้วกว่า 24% จึงเชื่อว่าจะสามารถเติบโตทำนิวไฮ (New High) ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะช่วงครี่งปีหลังที่อุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นมาเติบโตได้อย่างคึกคักตอบรับปัจจัยบวกหลายหลายด้าน
ล่าสุด CPANEL แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/65 รายได้รวม 122.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.67% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 24.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 613.29% ส่วนงวด 9 เดือนแรกมีรายได้รวม 316.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.52% และมีกำไรสุทธิ 48.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142.48% เติบโตมากกว่าผลประกอบการทั้งปี 64 ที่มีรายได้รวม 312.44 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 31.80 ล้านบาท
นายชาคริต กล่าวว่า CPANEL เป็นธุรกิจต้นน้ำในกลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมใน 2-3 ปี ก็ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลดล็อค LTV (Loan to Value) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการซื้ออสังหาฯ เพิ่มขึ้น 10-30% และหากประเมินจากตัวเลขของฝั่งธนาคารจะพบว่าตัวเลขการโอนเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งบ้านแนวราบ 12% และคอนโดฯ 33%
แม้ล่าสุด ธปท.จะไม่ต่ออายุการผ่อนคลาย LTV แล้ว แต่ขณะนี้ภาคอสังหาฯ ถือว่าฟื้นตัวขึ้นมาได้พอสมควรแล้ว และคาดว่าโค้งสุดท้ายของปีนี้จะมีการเร่งซื้ออสังหาฯ เพิ่มขึ้นก่อนจะสิ้นสุดการผ่อนลายมาตรการ LTV ในสิ้นปีนี้
ขณะที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทำให้ขณะนี้สต็อกโครงการในมือของผู้พัฒนาอสังหาฯลดลงไปมาก ดังนั้น ในปีนี้พบว่าตลาดก่อสร้างคึกคักมากขึ้น ทั้งการสร้างขึ้นมาเพื่อขาย และสร้างขึ้นมาชดเชยสต็อกที่ลดลงไป กลายเป็น Double Impact ที่เป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัท
และหากดูสัดส่วนรายได้จากเดิมที่มาจากบ้านแนวราบเป็นหลัก ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากโครงการแนวสูงเพิ่มขึ้นกว่า 15% โดยเริ่มกลับมาขายดีอีกครั้งหนึ่ง และส่วนใหญ่เป็นอาคารประกอบทั้งหลังทำให้ CPANEL ได้ส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง
บริษัทยังเชื่อว่าจากการมีฐานการผลิตใน จ.ชลบุรี และมีความชำนาญในพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบในการรับงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง เนื่องจากขณะนี้มีดีมานด์การก่อสร้างพุ่งสูงมาก ตอบรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ขณะนี้เริ่มเห็นการเกิด Hub ต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง ซึ่งทำให้เกิดชุมชนและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามมา
นายชาคริต กล่าวว่า EEC มีการวางระบบขนส่งจาก กทม.ไปจนถึง จ.ระยอง และมีการเปิด Hub ต่าง ๆ ทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง มีการส่งเสริมการลงทุนทั้งผู้ประกอบการในประเทศและจากต่างประเทศมากมาย ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามามาก
CPANEL ได้เปรียบเรื่องการขนส่ง เดิมทีเราเน้นรับงานใน กทม.และปริมณฑล แต่ปัจจุบัน EEC ที่เป็นเขตที่เราอยู่กำลังได้เปรียบ มีการขยับเข้ามาของกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย ทำให้เรามีโอกาสได้งานจากต่างชาติเข้ามาด้วย ทั้งกลุ่มที่จะเข้ามาลงทุนโดยตรงที่ต้องการจะได้ BOI รวมไปถึงกลุ่ม Wealth with pension และกลุ่ม smart people ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุน พวกนี้ทำให้อสังหาฯในพื้นที่ดีขึ้น
นาบชาคริต กล่าวว่า จุดเด่นของผนังสำเร็จรูป (Precast) คือ ใช้เวลาในการผลิตเร็วกว่า 3 เท่า ทำให้ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง ประหยัดในส่วนของค่าแรง และลดจำนวนแรงงานในพื้นที่จริง (on-site) ไปกว่า 70% และด้วยเทคโนโลยี Fully Automate Precast Concrete ที่สร้างได้เร็ว ลดจำนวนคน คุณภาพคงที่ จนทำให้เกิดการยอมรับจากโครงการมูลค่าสูง (High-End) ล้างความเชื่อที่หลายคนเคยพูดว่า Precast จะใช้กับบ้านราคาถูกเท่านั้น ซึ่ง CPANEL เองก็ได้มีโอกาสเข้าไปรับงาน High-End มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ตอกย้ำการแทนที่วัสดุก่อสร้างชนิดเดิม ๆ เพิ่มเติมรายได้จากหลากหลาย sector
“ถ้าเป็นเฉพาะฝั่งโครงการเราสร้างเสร็จเร็วกว่าการก่อสร้างรูปแบบเดิมถึง 3 เท่า ทำให้สามารถควบคุมงบก่อสร้างไม่ให้บานปลาย และคุมเวลาก่อสร้างได้ตามสัญญา ขณะที่ใช้แรงงานฝั่งโครงสร้างลดไป 70% เราเป็น cell Immune กับค่าแรงขั้นต่ำและเงินเฟ้อ อีกเรื่อง คือ เราเป็น Fully Automated เราใช้คนน้อยกว่าพรีแคสปกติอยู่แล้ว ถ้าชาวบ้านใช้ 100 เราใช้แค่ 10 เราค่อนข้างได้เปรียบ”น
ายชาคริต กล่าว
เทคโนโลยีพรีแคส ยังได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อก่อนคนมักมองว่าพรีแคสใช้กับบ้านราคาถูก หรือ low end แต่พรีแคสของ CPANEL ใช้กับบ้านไฮเอนด์ 10-20-30 ล้านบาท และมาปีนี้บ้านไฮเอนด์ราคาขยับชึ้นไปเป็น 50-80 ล้านบาท เราเริ่มเห็นผู้พัฒนาอสังหาฯมาให้เราเข้าไปเสนอราคาแล้วสำหรับงานบ้าน 40-50 ล้านบาท เพราะฉะนั้นเราจะเห็นภาพว่าการขยับเข้าไปแทนที่การก่อสร้าวบ้านปกติของพรีแคสสูงขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ
นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากงานประเภทบ้านที่อยู่อาศัย แนวราบและคอนโมดิเนียม ซึ่งในภาวะที่ต้นทุนก่อสร้างพุ่งสูง ทำให้กลุ่มก่อสร้างหันมาหาทางเลือกเพื่อทดแทน ซึ่งขณะนี้การใช้พรีแคสไปทดแทนยังต่ำมากเมื่อเทียบกับภาพรวมก่อสร้างทั้งระบบ โดยอยู่ที่ 7% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่กว่า 70% จึงทำให้บริษัทมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก
“เพราะฉะนั้นแล้วถามว่าเรากังวลมั้ยว่า sector อสังหาฯ จะขึ้นลง เราไม่กังวลเลย เพราะเราเข้าไปแทนได้หมดในการก่อสร้าง และมันโตขึ้นทุกปีแน่ ๆ เราสามารถใช้ operation ที่มีรับลูกค้าแบบไหนก็ได้ อันนี้คือความสวยงาม เราไม่ได้ fix และเรารู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวตลาดคอนโดก็ต้องมา ถ้าคอนโดมาแล้ว อพาร์ทเม้นท์ โรงพยาบาล โรงแรมก็ตามมา มันเป็น section เดียวกัน ตอนนี้มีโรงแรมาคุย สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้เห็นว่าคตราบใดที่ยังมีการก่อสร้าง เราก็ยังโตได้”นายชาคริต กล่าว
นอกจากนั้น อีกจุดเด่นของบริษัท คือ การคุมต้นทุน ซึ่งในแง่ของลูกค้า บริษัทสามารถช่วยลูกค้าในการคุมต้นทุนได้ และในแง่ของบริษัทก็สามารถคุมต้นทุนการผลิตของตัวเองได้ดี ทำให้อัตรากำไร (GM) ขยับขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยหลัก ๆ ไม่ได้มาจากการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปที่ลูกค้า แต่บริษัทเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ยั่งยืนทำให้สามารถต้นททุนลดลงเรื่อย และรักษาอัตรากำไรไว้ได้ อันนี้คือจุดแข็ง
“นักลงทุนอาจจะมองว่าเราเป็นธุรกิจหนักเหมือนคอนกรีต แต่จริง ๆ เราคือ tech construction เพราะฉะนั้น Growth หรือ margin ที่จะมองเราอาจจะมองเรามจากกลุ่มคอนกรีตตรง ๆ ไม่ได้ อาจจะต้องมองจากกลุ่ม tech ที่จะสามารถ scale up พวก technology และ fixed cost ได้
นายชาคริต กล่าวว่า หลายคนมอง CPANEL อยู่ในกลุ่มเดียวกับธุรกิจคอนกรีต แต่จริง ๆ ด้วยการทำงานของ CPANEL เราถือว่าอยู่ในกลุ่ม “Constriction Tech” เรามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ด้วยเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ทุกรูปแบบ และด้วยประสบการณ์ของทีมผู้บริหาร ต่อให้มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็มั่นใจว่า CPANEL จะเป็น 1 ใน 1st Adopter
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 65)
Tags: CPANEL, INTERVIEW, ซีแพนเนล, หุ้นไทย