เกษตรกร ขอรัฐเร่งกวาดล้างหมูเถื่อน ห่วงกระทบแผนเพิ่มผลผลิตพลาดเป้า

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเข้าพบ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ คนใหม่ว่า สมาคมฯ ขอให้กรมปศุสัตว์ปราบปรามการนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนที่ได้ดำเนินการอยู่ให้เข้มข้นขึ้น และกวาดล้างให้สิ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เลี้ยง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็ก

ทั้งนี้ เนื่องจากสุกรเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย มีราคาเฉลี่ย 135-145 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาสุกรในประเทศมาก ซึ่งเป็นการทำลายกลไกราคาสุกรไทย เช่น พื้นที่ภาคเหนือ ที่ปัจจุบันกำลังการผลิตของฟาร์มหมูในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มรายย่อย โดยอยู่ที่ประมาณ 75% จากก่อนหน้านี้ที่มีประมาณ 80% ซึ่งนับแต่เกิดโรคระบาด การเลี้ยงสุกรทั้งระบบต้องยกระดับการป้องกันโรค ด้วย Biosecurity ในฟาร์ม ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นถึง 300-500 บาทต่อตัวหมูขุน

“ปัญหาหมูเถื่อนขณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการอุปทานผลผลิตหมูในประเทศ และทำให้ผู้เลี้ยงขาดความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาเลี้ยงใหม่ ยังไม่สามารถจัดการกับการระบาดของโรคได้ ทำให้แนวโน้มราคาจะปรับเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งเวลานี้ทางสมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือในการรักษาระดับราคาไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม มานานถึง 24 สัปดาห์แล้ว ส่วนกำลังการผลิตในประเทศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือไม่ ต้องติดตามดูในช่วงกลางปี 66 แต่สมาคมฯ มองว่า อาจจะยังไม่สามารถกลับมามีกำลังการผลิตเท่าเดิมได้” นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงถึง 98-100 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นทุนในทุกหมวดยังอยู่ในระดับสูง ทั้งวัตถุดิบผลิตอาหารสำหรับอาหารสัตว์ พลังงาน และการป้องกันโรคที่เข้มงวด สิ่งที่ผู้เลี้ยงวิตกกังวลมากที่สุดคือ เนื้อหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามา จะนำเอาโรคต่างถิ่นมาด้วย โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) รวมถึงสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมาทำอันตรายต่อคนไทย ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อราคาด้วย

“ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐกวดขันจับกุมอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้สุกรเถื่อนเหล่านี้หมดไปโดยเร็ว หากปล่อยให้สุกรเถื่อนเหล่านี้ยังสามารถกระจายขายได้ทั่วไป เท่ากับเป็นการทำร้ายผู้เลี้ยง โดยเฉพาะรายย่อย รายเล็ก ที่จะหายไปจากระบบในที่สุด” นายสุรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ได้หารือกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ อาทิ แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรไทย เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรค และผลกระทบด้านราคาในบางช่วง รวมถึงแนวทางการกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ที่ยังเป็นอุปสรรคทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและการจัดการด้านสุขภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top