นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การเดินทางทางอากาศกลับมาอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว แม้การบินของภูมิภาคแปชิฟิกในภาพรวม อาจจะยังเติบโตช้าเมื่อเทียบกับฝั่งยุโรปและอเมริกา เนื่องจากประเทศจีนยังไม่เปิด แต่หากยกเว้นประเทศจีน จะพบว่าการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับมาค่อนข้างเร็ว หรือกลับมาทำการบินในเส้นทางที่เคยบินแล้วประมาณ 70-80% เมื่อเทียบกับปี 62 ถือว่ามีแนวโน้มสดใส แต่ปัญหาที่พบ การรับส่งผู้โดยสารที่มีค่อนข้างแน่นเนื่องจากแต่ละสายการบินยังกลับมาทำการบินไม่ครบ 100% เท่าเดิม ดังนั้นทุกสายการบินเห็นตรงกันว่าต้องมุ่งกลับไปทำการบินในเส้นทางที่เคยให้บริการให้ได้มากที่สุดก่อนเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการบินไทย มีเป้าหมายที่จะกลับไปทำการบินในเส้นทางที่เคยให้บริการเดิมให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันกลับมาให้บริการในเส้นทางหลักหมดแล้ว ส่วนเส้นทางเมืองรองอยู่ระหว่างรอเวลาเหมาะสมและความพร้อม โดยต้องขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องบินด้วยจากเดิมที่เคยมีเครื่องบินกว่า 100 ลำ ปัจจุบันมีเครื่องบินบริการอยู่ประมาณ 40-50 ลำ (ไม่รวม เครื่องบินของไทยสมายล์ ) และอยู่ระหว่างจัดหาเพิ่มเติมในรูปแบบการเช่าโดยล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมได้อนุมัติเข่าเครื่องบินแอร์บัส A 350 จำนวน2 ลำ อยู่ในขั้นตอนการรับมอบ และเครื่องบิน แอร์บัส A 350 จำนวน 4 ลำ ที่ผ่านขั้นตอนการเห็นชอบจากบีโอไอแล้ว
ทั้งนี้ การบินไทยพยายามหาเครื่องบินที่มีความเหมาะสม ทันสมัยและดีที่สุดในรูปแบบการเช่ามาใช้ให้บริการ เพื่อรองรับความต้องการผู้โดยสาร แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการหาเครื่องบินค่อนข้างยาก เนื่องจากช่วงโควิดสายการบินมีการปรับลดหรือหยุดการให้บริการ แต่เมื่อโควิดคลี่คลายการเดินทางกลับมาทุกสายการบินต้องการใช้เครื่องบินเหมือนกัน
ดังนั้น การบินไทยจึงได้ทบทวนแผนการขายเครื่องบิน โดยมีการนำเครื่องบินที่มีสภาพดี ปรับปรุงกลับมาใช้งานอีกครั้ง เช่นเครื่องบินแอร์บัส A 330 จำนวน 3 ลำ ที่มีการปรับปรุงเก้าอี้ใหม่ และนำกลับมาให้บริการในเส้นทางญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ ที่เดิมมีแผนขาย แต่ราคาขายไม่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาความคุ้มค่าในการปรับปรุงปรับปรุง เพื่อนำกลับมาให้บริการอีกครั้ง เนื่องจากเครื่องบินถูกจอดไว้นาน โดยเส้นทางที่เคยทำการบินและมีกำไร เช่นลอนดอน , นาริตะ เป็นต้น
ด้านนายกรกฏ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI กล่าวว่า แนวโน้มผู้โดยสารกลับมาค่อนข้างดีโดยในเดือนตุลาคม มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยที่ 81% โดยขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 18,000 คนต่อวันเพิ่มขึ้นจากเดิม ที่มีเพียง 400 คน และ 12,000 คนต่อวัน ตามลำดับ และคาดว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไฮซีซั่นฤดูหนาวจะมีผู้โดยสารมากกว่า 20,000 คนต่อวัน ขณะที่รายได้จากผู้โดยสารต่อหน่วย (yield) กว่า 2 บาท ถือว่าสัญญาณดี ดีมานด์ความต้องการเดินทางชัดเจน
ปัจจุบันการบินไทย มีเครื่องบินให้บริการ จำนวน 44 ลำ ไทยสมายล์ มี 20 ลำ มีอัตราการใช้งานเฉลี่ย 10 ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยเปิดให้บริการแล้ว 68 เส้นทาง หรือเกือบ 60% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีโควิด (เดิมมีกว่า 80 เส้นทาง) รวม 713 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเป็น ยุโรป แต่เส้นทางจำนวน 63 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเอเชีย 44 เส้นทางจำนวน 402 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ออสเตรเลียสองเส้นทางจำนวน 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์และไทยสมายล์ 10 เส้นทางจำนวน 227 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งกลยุทธ์ในการทำการบิน จะเริ่มที่หนึ่งเที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในเมืองหลักๆทั้ง ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต ซิดนีย์เมลเบิร์น เนื่องจากเครื่องใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777 เป็นเครื่องลำใหญ่ที่สุดที่มีในขณะนี้อาจจะมีความหนาแน่น
โดยบริษัทจะนำเครื่องบินมาใช้ให้เหมาะสมและเดินตามแผนฟื้นฟูให้ได้มากที่สุด โดยไทยสมายล์ จะเป็นหลักในเส้นทางภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ การบินไทย และไทยสมายล์ มีความร่วมมือ เชื่อมโยงผู้โดยสารกันมากขึ้น ช่วงเช้าการบินไทยมี 8 เที่ยวบิน เข้ามาจากยุโรป และ 10 เที่ยวบินจากอินเดีย ไทยสมายล์ก็สามารถรับผู้โดยสารเชื่อมต่อเข้าสู่เส้นทางภายในประเทศได้อย่างดีและไทยสมายล์ยังคงให้บริการเส้นทางในภูมิภาค CLMV ที่ใช้เวลาทำการบินประมาณ 2-3 ชั่วโมง และเพิ่มการบินในเมืองรองประเทศอินเดียเช่น พุทธคยา ลัคเนาตามความเหมาะสม
ขณะเดียวกันการบินไทยรอประเทศจีนเปิดการบินเป็นปกติ โดยขณะนี้การบินไทยทำการบินประเทศจีน ไปยังเมืองคุนหมิง เฉิงตู 2-3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ส่วนใหญ่เป็นด้านคาร์โก้และการขนส่งผู้โดยสารจีนที่ตกค้าง โดยคาดการณ์ว่า ประเทศจีนน่าจะเปิดการบินเป็นปกติหลังตรุษจีน โดยการบินไทยเตรียมทำการบินเข้าสู่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ต่อไป
ในวันนี้ การบินไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่ประจำปี AAPA 66th ASSEMBLY OF PRESIDENTS BANGKOK 2022 โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งนี้
การประชุม AAPA ครั้งที่ 66 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของสายการบินสมาชิก AAPA จำนวน 13 สายการบินชั้นนำในภูมิภาคแปชิฟิก ได้แก่ ออลนิปปอนแอร์เวย์ แอร์แอสตานา บางกอกแอร์เวย์ คาเธ่ย์แปชิฟิคแอร์เวย์ ไชน่าแอร์ไลน์ อีวีเอแอร์เวย์ การูด้าอินโดนีเซีย เจแปนแอร์ไลน์ มาเลเซียแอร์ไลน์ ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ รอยัลบรูไนแอร์ไลน์ สิงคโปร์แอร์ไลน์ และการบินไทย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน ร่วมประชุมหารือประเด็นต่างๆ รวมทั้งกฎเกณฑ์ต้านการบินที่มีผลกระทบต่อสายการบินสมาชิก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
อีกทั้งมีการเสวนา (Panel Discussion) จากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นและมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจการบินให้มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 65)
Tags: THAI, การบินไทย, สายการบิน, สุวรรธนะ สีบุญเรือง