ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022 พบว่าผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่จากผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับการรับรู้ถึง ESG ในองค์กรและบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร และบริษัทที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มีคณะกรรมการเพื่อดูแลหรือขับเคลื่อน ESG ในธุรกิจของตน และบางบริษัทกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับคณะกรรมการในการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กร
ทั้งนี้บริษัทในอุตสาหกรรม Energy, Resources & Industrial และ Technology, Media & Telecommunications มีความถี่ในการกำหนดความยั่งยืนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย KPI ที่เชื่อมโยงกับ KPI ส่วนบุคคลเพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้บริหารและพนักงาน
สำหรับบทบาทการเงินกับความยั่งยืน (Sustainability) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จากแผนกการเงินและบัญชีเห็นพ้องกันว่าความยั่งยืนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นสำหรับการเงินขององค์กร โดย Energy, Resources & Industrial ถือเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือสินเชื่อที่ยั่งยืน ซึ่งผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะมีการลงทุนในนวัตกรรมเช่นกันเพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy)
ส่วนการรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการเปิดเผยผลการปฏิบัติงาน ESG ของตนในรายงานความยั่งยืนหรือแหล่งข้อมูลสาธารณะอื่นๆ อย่างไรก็ตามหนึ่งในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นแต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ขณะที่การขาดเทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การขาดความสามารถและทักษะภายในองค์กร และความพร้อมใช้งานของข้อมูลเป็นช่องว่างหลักที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการรายงานความยั่งยืน
ด้านการรวบรวมข้อมูลในองค์กร ที่เป็นไปตามตัวชี้วัดการประเมิน ESG เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลว่าองค์กรของตนไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีที่เพียงพอในการรวบรวมข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูล ESG ใหม่ โดย Global Reporting Initiative (GRI) เป็นมาตรฐานการเปิดเผย ESG หลักที่ใช้ในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถาม และ ESG KPI ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อกำหนดเทมเพลตและโครงสร้างการรวบรวมข้อมูลขององค์กร อย่างไรก็ตาม 19% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีเทมเพลตการรวบรวมข้อมูล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 65)
Tags: ESG, ความยั่งยืน, ดีลอยท์, ผลสำรวจ