ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.อยู่ที่ระดับ 46.1 จากเดือนก.ย.65 อยู่ที่ระดับ 44.6 โดยดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 10 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 40.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 43.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.8
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนก.ย. ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19, ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.65, การส่งออกเดือนก.ย.ขยายตัว 7.83% และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด, ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า และความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นต้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.นี้ ถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่ม.ค.65
อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤติโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไปหรือไม่”
นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.นี้ มีข้อมูลที่พบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ต่างปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและพร้อมที่จะกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแล้ว
นายธนวรรธน์ มองว่า ประเทศไทยกำลังหลุดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 63 ติดลบไปถึง -6.1% และเริ่มขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.6% ในปี 64 ขณะที่ปีนี้ คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.3-3.5% ส่วนในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4%
ทั้งนี้ หากไม่มีเหตุการณ์ใดที่รุนแรงเข้ามาเพิ่มเติมอีก ก็เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย. และธ.ค. จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี เช่น ช้อปดีมีคืน, เราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมากขึ้น ตลอดจนมีการจัดโปรโมชั่นของห้างร้านต่างๆ ในช่วงถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ก็จะเป็นอีกแรงที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงปลายปีนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเริ่มดีขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงกลางปี 66 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาส 2/66
“ตอนนี้จะเห็นว่าผู้บริโภคพร้อมที่จะกลับมาจับจ่ายใช้สอยแล้ว โดยดูจากดัชนีการซื้อบ้าน ซื้อรถ และการท่องเที่ยว…ถ้าเทียบกับปี 63 แล้ว จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับขึ้นมาได้ราว 5% จากที่ติดลบในปี 63 และเชื่อว่าในปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.5-4% ซึ่งจะเทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด เราประเมินว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงเข้ามาอีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย. ธ.ค.จะดีขึ้น และดีขึ้นเด่นชัดในกลางปี 66”
นายธนวรรธน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 65)
Tags: ค่าครองชีพ, ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ราคาสินค้า, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ