นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ขับเคลื่อนด้วย ESG โดยการวางยุทธศาสตร์นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่เดินหน้าปรับการดำเนินงานของธนาคารและเสริมศักยภาพลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero อัดฉีดสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าไปสู่ 2 แสนล้านบาท ภายในปี 73 พร้อมขับเคลื่อนสังคมช่วยลูกค้ารายเล็กให้เข้าถึงสินเชื่อ โดยในปี 65 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายเล็กกว่า 5 แสนราย มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และ ณ เดือนก.ย. 65 ปล่อยสินเชื่อแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท พร้อมกับเล็งขยายสินเชื่อรายเล็กให้ได้ 1.9 ล้านราย ภายในปี 68
ขณะเดียวกันทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าขนาดกลางขึ้นไป เข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยง ESG ครบ 100% แล้ว และพร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือทั้ง Ecosystem เพื่อให้ลูกค้า สังคม และประเทศ เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน และจากบริบทการดำเนินธุรกิจทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงมุ่งสู่วิถีแห่งความยั่งยืนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้บริโภคนำประเด็นความยั่งยืนมาประกอบการตัดสินใจ นักลงทุนใช้เกณฑ์ ESG ประกอบการพิจารณาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศออกมาตรการด้าน ESG ที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง
“หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทำให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้”
นายกฤษณ์ กล่าว
ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) มาอย่างต่อเนื่อง จึงเล็งเห็นความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนและโอกาสต่อเศรษฐกิจไทย ได้ประกาศ KBank ESG Strategy 66 วางยุทธศาสตร์เรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยมีแผนงานและเป้าหมายในมิติต่างๆ
มิติสิ่งแวดล้อม ธนาคารกสิกรไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ทั้งในการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) และในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (ขอบเขตที่ 3) โดยในปี 65 มีการดำเนินงานแล้ว ได้แก่ การปรับกระบวนการทำงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ทยอยเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV ติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงาน และสาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยในครึ่งปีแรกของปี 65 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13.52% เทียบกับปี 63 และตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารอย่างต่อเนื่อง สู่เป้าหมาย Net Zero ใน Scope 1 และ 2 ภายในปี 73
การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Scope 3) เริ่มจากการประเมินก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร ศึกษาความเป็นไปได้และความซับซ้อนในการปรับเปลี่ยนโดยพิจารณาบริบทของประเทศ และนำมาจัดลำดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเร่งด่วน ซึ่งในปี 65 ธนาคารประเมินและจัดทำแผนกลยุทธการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) จำนวน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Portfolio Emission) และเตรียมขยายการทำงานร่วมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ตามลำดับ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย
สนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) ธนาคารให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในปี 65 ไปแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และเตรียมจัดสรรเงินทุนด้านความยั่งยืนรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องรวม 2 แสนล้านบาท ภายในปี 73
พัฒนาบริการ Beyond Financial Solutions ผสานเทคโนโลยีและความร่วมมือกับพันธมิตร เชื่อมต่อความร่วมมือตลอดซัพพลายเชน ออกโครงการที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงินเพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายยิ่งขึ้น และกระจายสู่วงกว้างได้มากขึ้น เช่น โครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และโครงการส่งเสริมการเช่าใช้งาน EV Bike ที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายและช่วยให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยธนาคารจะเดินหน้าขยายโซลูชั่นเหล่านี้ไปสู่ลูกค้าในวงกว้างต่อเนื่อง
ด้านมิติสังคม ธนาคารกำหนดยุทธศาสตร์สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ (Financial Inclusion and Financial/Cyber Literacy) ด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการให้สินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาจากความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความรวดเร็วในการติดตามการชำระคืนหนี้และการฟื้นฟู การทำงานด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และประสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งมอบบริการสินเชื่อควบคู่การให้ความรู้ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เกิดเป็นผลการดำเนินงานและเป้าหมาย ดังนี้
สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) แก่ลูกค้ารายเล็ก (Small-pocket Customers) ได้แก่ ลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน ซึ่งอาจไม่มีบัญชีเงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยธนาคารจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆ รวมถึงลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ปี โดยในปี 65 ณ เดือนก.ย. 65 ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ที่จะให้สินเชื่อลูกค้ารายเล็ก 2.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนลูกค้า 500,000 ราย และตั้งเป้าหมายปี 68 จะให้ลูกค้ารายเล็กจำนวน 1.9 ล้านราย เข้าถึงสินเชื่อได้
การให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Financial and Cyber Literacy) ด้วยการออกแคมเปญสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ เข้าถึงลูกค้าได้ 10 ล้านราย ในปี 66 และสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า ปกป้องทรัพย์สินของลูกค้า การให้บริการที่ปลอดภัย และดูแลอย่างทันท่วงที ด้วยการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการความเสี่ยง และการกำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการอย่างครอบคลุม
ส่วนมิติธรรมาภิบาล ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์การพิจารณาตามหลัก ESG เพื่อดูแลให้สินเชื่อที่ปล่อยไปจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% โดยในปี 65 มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนนี้กว่า 3.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.ย. 65
ตลอดระยะเวลาที่ธนาคารทำงานโดยนำหลักการ ESG เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการ พบว่ามีความท้าทายสำคัญในประเด็นการจัดการที่ต้องพิจารณาจากมิติที่หลากหลาย ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน คือ ต้องรักษาสมดุลการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง และต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
“ธนาคารเป็นต้นน้ำของระบบเศรษฐกิจ จึงถือเป็นภารกิจที่จะต้องทำเรื่องนี้ต่อไปให้มากขึ้น ด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น และขอชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะความยั่งยืนเป็นงานที่ไม่สิ้นสุดและทำคนเดียวไม่ได้ โดยธนาคารพร้อมจะเป็นผู้สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ผ่านการประสานศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี พันธมิตร และความร่วมมือกับภาคส่วนสำคัญต่างๆใน Ecosystem เพื่อช่วยให้ลูกค้า สังคม และประเทศ เดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”
นายกฤษณ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 65)
Tags: KBANK, กฤษณ์ จิตต์แจ้ง, ธนาคารกสิกรไทย, หุ้นไทย