นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 11 ซึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบสาธารณสุขไทย และการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างชัดเจน หน่วยบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติภูมิ ตติยภูมิ และศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการบริการที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายบริการในแต่ละเขตสุขภาพ ทำให้ดูแลประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างครอบคลุม
สำหรับการดำเนินงานต่อจากนี้ จะอยู่ในแผนระยะ 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2568) มุ่งเป้าพัฒนาระบบบริการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น, มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้, มีการลงทุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และมีอัตรากำลังของบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม
“การทำงานให้ยึดหลัก “ท ท ท” คือ ทำทันที-ทำต่อเนื่อง-ทำและพัฒนา สร้างความร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกระดับเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยสู่การยกระดับบริการ ช่วยลดอัตราตายจากโรคที่สำคัญ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราป่วย ลดการรอคอย และลดความแออัด โรงพยาบาลต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ให้บริการด้วยความปลอดภัย รวดเร็ว และประทับใจ”
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
สำหรับระบบบริการสุขภาพ 19 สาขา ประกอบด้วย 1.โรคหัวใจ 2.โรคมะเร็ง 3.อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 4.ทารกแรกเกิด 5.สุขภาพจิตและสารเสพติด 6.แม่และเด็ก 7.ระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ 8.สุขภาพช่องปาก 9.ไต 10.ตา 11.โรคไม่ติดต่อ 12.แพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน 13.การรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ 14.การใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ 15.การดูแลระยะเปลี่ยนผ่านผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลันและการดูแลแบบประคับประคอง 16.ศัลยกรรม 17.อายุรกรรม 18.ออร์โธปีดิกส์ และ 19.การใช้กัญชาทางการแพทย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 65)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, ระบบบริการสุขภาพ, โอภาส การย์กวินพงศ์