นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 65 อาทิ เช่น มาตรการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน
รวมถึงมาตรการขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถประมาณเทียบเท่าการลดการนำเข้า Spot LNG โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะนำเข้า 18 ลำ เหลือ 8 ลำ อีกทั้งให้โรงไฟฟ้าหันไปใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาแทน เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ได้จัดหาแหล่งก๊าซฯจากในประเทศทั้งในอ่าวไทยและบนบก ตลอดจนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) เพิ่มเติมในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2565 นี้ ให้ได้ปริมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“การออกมาตรการวันนี้ เป็นการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน แต่ (ค่าไฟ) จะลดหรือไม่ลด ต้องมาประเมินกันอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า ซึ่ง กกพ. ต้องไปดูโครงสร้าง…มั่นใจว่าแนวทางที่บริหารจัดการนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ราคาจะไม่สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบัน ที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย” นายกุลิศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเตรียมมาตรการรองรับความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์วิกฤติพลังงานในช่วงฤดูหนาว เพราะอาจลากยาวไปจนถึงเดือน ก.พ.-มี.ค.66 เนื่องจากคาดว่าในช่วงฤดูหนาวปลายปีนี้ ทางยุโรปจะมีความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคา LNG มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงาน แต่ละมาตรการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บมจ. ปตท. (PTT) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งดำเนินการในมาตรการ โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่า และเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ
หากราคา Spot LNG ยังคงปรับสูงขึ้นเกิน 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู การใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าจะคุ้มค่ามากกว่า แต่หากราคา Spot LNG เริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 26-29 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็จะพิจารณาให้ PTT และกฟผ. นำเข้าเพื่อมาเก็บสำรองไว้ ขณะเดียวกัน ยังเตรียมมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรับมือกับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบัน PTT มีสัญญาซื้อ LNG ระยะยาว อยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี ราคาเฉลี่ย 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
แต่หากราคา Spot LNG สูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 14 วัน ก็จะมีมาตรการภาคบังคับด้านการประหยัดพลังงานออกมา โดยภาครัฐจะกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ มาตรการขอความร่วมมือประหยัดในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00 – 23.00 น.), การกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำและอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไป อันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่างๆ แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังานโดยเร็ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tarif) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย
(1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้พลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certicate: REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่ รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่กกพ. จะกำหนดต่อไป
(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป
นายกุลิศ กล่าวว่า ในการกำหนดองค์ประกอบและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั้ง 2 รูปแบบ รวมถึงการจัดสรรต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ครอบคลุมต้นทุนสาธารณะ และวิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ กกพ. จะพิจารณากำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ให้โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม
อีกทั้ง ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 54-58 โดยให้มีการปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้ กกพ. สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วยเป็นการชั่วคราว
แนวทางดังกล่าว จะช่วยลดผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 65)
Tags: กระทรวงพลังงาน, กุลิศ สมบัติศิริ, พลังงาน