หลังจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Zipmex ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งล่าสุด จนทำให้ผู้ใช้บริการในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ไม่สามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากผลิตภัณฑ์ Z Wallet ได้ และปัจจุบัน ผู้บริหาร Zipmex ในประเทศต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น Zipmex ประเทศไทยอยู่ระหว่างระดมทุนจากนักลงทุนรายใหม่ ซึ่งเป็นข่าวดังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันจาก Zipmex ประเทศไทย อย่างเป็นทางการ
หรือ Zipmex ประเทศอินโดนีเซีย เป็นสาขาที่มีการแก้ไขปัญหาได้คืบหน้าที่สุด คือ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.65 ที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการของ Zipmex ประเทศอินโดนีเซียสามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจาก Z Wallet ได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น การสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ ในอนาคต และไม่ขอรับค่าตอบแทน (Rewards) หรือที่ Zipmex ประเทศไทยเรียกว่า “โบนัส” ใด ๆ กล่าวคือ ผู้ใช้บริการจะได้รับเฉพาะเงินต้นหรือเฉพาะสินทรัพย์ตั้งต้นเท่านั้น จึงน่าพิจารณาว่าหาก Zipmex ประเทศไทย มีแนวทางการดำเนินการเช่นเดียวกันกับ Zipmex ประเทศอินโดนีเซียแล้ว จะสามารถพ้นจากความรับผิดจากคดีแพ่งและคดีอาญาได้มากน้อยเพียงใด
กรณีความรับผิดทางแพ่ง การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการใช้บริการ (Terms and Conditions) ซึ่งถือว่าเป็นสัญญารูปแบบหนึ่งนั้น คู่สัญญา (Zipmex ประเทศไทยและผู้ใช้บริการ) มีอิสระที่จะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันได้ ดังนั้นแล้วหากผู้ใช้บริการมีความประสงค์ที่จะโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกจาก Z Wallet จะต้องเข้าตกลงแก้ไขเงื่อนไขการใช้บริการข้างต้นก่อน อันเป็นการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิม จึงสิ้นสิทธิเรียกร้องใด ๆ ในทางแพ่ง
แต่หากผู้ใช้บริการไม่ตกลงยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการใหม่ดังกล่าว เงื่อนไขการใช้บริการเดิมก็จะยังคงมีผลบังคับใช้ระหว่างคู่สัญญาทำให้ผู้ใช้บริการยังต้องได้รับค่าตอบแทนต่อไป แต่ก็จะไม่มีสิทธิถอนหรือโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของตนออกในทันที
กรณีความรับผิดทางอาญา จะมีความซับซ้อนกว่า กรณีความรับผิดทางแพ่ง เนื่องจากความรับผิดทางอาญาตามหลักกฎหมายของประเทศไทยนั้นแบ่งลักษณะความรับผิดอาญาออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ “ความผิดอาญาแผ่นดิน” และ “ความผิดอาญาอันยอมความได้” หรือ “ความผิดอาญาต่อส่วนตัว”
ความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดที่นอกจากจะมีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยตรงแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วยรัฐจึงต้องเข้าดำเนินการเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แม้ผู้ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความ หรือ ไม่ต้องการดำเนินคดีเอากับผู้กระทำความผิดต่อไปแล้วก็ตาม
ส่วนความผิดอาญาอันยอมความได้หรือความผิดอาญาต่อส่วนตัวนั้น เป็นความที่กระทำแล้วมีผลต่อผู้ถูกกระทำโดยตรงเท่านั้นและไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เมื่อผู้ที่ถูกกระทำไม่ติดใจเอาความหรือไม่ต้องการดำเนินคดีแล้วรัฐก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีเอากับผู้กระทำความผิดอีกต่อไป
ทั้งนี้ ความผิดใดจะเป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่ กฎหมายต้องกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็น “ความผิดอันยอมความได้” ส่วนความผิดนอกจากนั้นถือว่าเป็น “ความผิดอาญาแผ่นดิน” ทั้งสิ้น ความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการใช้บริการดังกล่าวแล้ว อาจถือได้ว่าผู้ใช้บริการสละสิทธิดำเนินคดีทางอาญาด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการใด ๆ ของ Zipmex เข้าข่ายความผิดอาญาแผ่นดินแล้ว รัฐยังคงมีอำนาจดำเนินการเอาผิดต่อไปได้ แม้ผู้ใช้บริการจะไม่ประสงค์ดำเนินคดีใด ๆ แล้วก็ตาม
จากความพยายามแก้ปัญหาของ Zipmex ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับการเยียวยาไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตามก็คงไม่เป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการทุกคนอย่างแน่นอน Zipmex ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารยังคงต้องเผชิญความท้าทายกับปัญหาต่าง ๆ รวมถึงปัญหาในเรื่องคดีความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
การเยียวยาผู้ใช้บริการโดยแลกกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการใช้บริการนั้นอาจช่วยบรรเทาปัญหาด้านคดีความ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีแพ่งและคดีอาญาที่ผู้เสียหาย (ผู้ใช้บริการ) ต้องเป็นผู้เริ่มกระบวนการ แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการใช้บริการใหม่นั้นก็ไม่อาจทำให้รัฐสิ้นสิทธิเอาผิดในการกระทำที่เข้าข่ายความผิดต่อรัฐหรือความผิดอาญาแผ่นดินได้
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 65)
Tags: Cryptocurrency, Z Wallet, Zipmex, กฎหมาย, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล, อินโดนีเซีย