นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลงานลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ซึ่งจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 8 พ.ย. 65 จึงสำรวจโป๊ะและท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน
ทั้งนี้ จากการสำรวจในพื้นที่กทม. มีท่าเรือที่มีสภาพใช้งานได้ จำนวน 376 ท่า แบ่งเป็น ท่าเรือเอกชน 249 ท่า ท่าเรือสาธารณะ 119 ท่า และไม่ปรากฏเจ้าของ 8 ท่า โดยมีสภาพชำรุดทั้งหมด 28 ท่า แบ่งเป็นเป็นท่าเรือเอกชน 19 ท่า และท่าเรือสาธารณะ 9 ท่า
สำหรับโป๊ะและท่าเรือที่มีสภาพปกติสามารถใช้ได้ กทม. ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกว่า 2,000 นาย อยู่ประจำทุกจุด เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมจัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
– ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 1 ลำ เรือเจ็ทสกี จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.วชิระ จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
– ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานตากสิน (สะพานสาทร) ประกอบด้วยเรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.ตากสิน จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
– ช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) ถึงสะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำเรือกู้ชีพ รพ.เจริญกรุง จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ
ส่วนโป๊ะและท่าเรือที่มีสภาพชำรุด กทม. ได้ดำเนินการปิดกั้นท่าเรือและโป๊ะ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายห้ามใช้งานเรียบร้อยแล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันลอยกระทง ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุด เวลา 17.33 น. ที่ระดับ +1.11 ม.รทก. อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่กทม.
ทั้งนี้ โป๊ะและท่าเทียบเรือที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต้องมีลักษณะ ดังนี้ ตัวท่าเรือและโป๊ะจะมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ผุกร่อน เสากันโป๊ะและอุปกรณ์ยึดโป๊ะมีความมั่นคงแข็งแรง โป๊ะเทียบเรือมีการลอยตัวที่สมดุล มีราวกันคนตกน้ำบนโป๊ะ มีพวงชูชีพติดตั้งไว้ในบริเวณที่สามารถนำไปใช้ได้สะดวก มีป้ายแสดงจำนวนผู้โดยสารที่โป๊ะสามารถรับน้ำหนักได้ ติดตั้งยางกันกระแทก กล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งบริเวณโป๊ะและท่าเทียบเรือ สามารถใช้งานได้ไม่มีความชำรุดบกพร่องใดๆ และการเดินทางเข้าถึงโป๊ะและท่าเทียบเรือมีความสะดวกและปลอดภัย
นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า กทม. ได้เตรียมพร้อมป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยกำชับให้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่นับจำนวนประชาชนก่อนลงท่าเรือหรือโป๊ะ โดยจำกัดผู้ที่จะลงไปในท่าเรือหรือโป๊ะ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เกิดความหนาแน่นจนเกินไป โดยกำชับให้สำนักงานเขตถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สำหรับกรณีมีประชาชนลงไปเก็บกระทงในแม่น้ำ ลำคลองนั้น ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ อาทิ ตำรวจ เทศกิจ ตำรวจน้ำ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำจุดที่มีประชาชนมาลอยกระทงเป็นจำนวนมาก เพื่อตรวจความเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มาลอยกระทง
กทม. ยังได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2565 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วน และองค์กรภาคีเครือข่าย บูรณาการเตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และยานพาหนะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในช่วงก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2565 เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังห้ามจำหน่ายและห้ามเล่นประทัดจีนทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม รูปไข่ รูปสามเหลี่ยม และไดนาไมท์ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะดำเนินการกวดขัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือได้ทางโทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 199 และ 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 65)
Tags: ท่าเรือโดยสาร, ลอยกระทง, เอกวรัญญู อัมระปาล, โป๊ะเรือ