เป็นที่จับตาและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงอนาคตของเงินดิจิทัลกับบทบาทในอนาคตที่จะมาแทนที่เงินสกุลหลักของโลกว่าจะมีทางเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ นายกวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content บล.พาย (Pi) มาชวนคุยให้ฟังถึงวิวัฒนาการของ “เงิน” จากในอดีตมาถึงยุคดิจิทัลที่นำมาสู่เงินนวัตกรรมใหม่ และแชร์ไอเดียว่าจะมีโอกาสสำหรับการลงทุนอย่างไร
ย้อนรอยวิวัฒนาการ “เงินตรา” อำนาจที่ใครก็ต้องการ
หากพูดถึง “เงิน” ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อย้อนไปถึงจุดกำเนิดของเงินมาจากการแลกเปลี่ยนกันด้วยมูลค่าของสินค้าที่มีความแตกต่าง จึงทำให้ต้องมีตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นจนกลายเป็น “เงิน” ซึ่งมีการเปลี่ยนรูปจากเปลือกหอย เป็นโลหะ เป็นธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ตามการยอมรับ อย่างที่เราใช้กันอยู่จนทุกวันนี้
และเมื่อมาถึงโลกยุคดิจิทัลเริ่มมีบทบาทในการใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องเงิน ทำให้เกิดรูปแบบการชำระเงินแบบใหม่ที่เรียกว่า “Digital Money” ที่เรานำเงินของเราไปอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลเพื่อทำการซื้อ ขายสินค้า เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) หรือ การนำเงินไปแลกเป็นแต้มหรือคะแนนสะสม (Point) เพื่อใช้ในธุรกรรมต่าง ๆ
แต่ไม่ว่ารูปแบบการทำธุรกรรมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ระบบการเงินก็ยังคงอยู่ มนุษย์ยังคงต้องแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ จะเปลี่ยนแปลงเพียงแค่วิธีการหรือรูปแบบการชำระเงินเท่านั้น!! ซึ่งสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับสากลปัจจุบันคือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar) เนื่องจากมูลค่าของเศรษฐกิจโดยรวม และการยอมรับ (ความเชื่อ) ในสกุลเงินนั้น ๆ
หรือแม้แต่ “ทองคำ” อีกหนึ่งสินทรัพย์คงมูลค่า ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ดังนั้น การที่สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งจะกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกอยู่ที่ความเชื่อและการยอมรับของคนหมู่มาก
Digital Money VS Cryptocurrency
หลายประเทศเริ่มมีการนำ “Digital Money” หรือเงินในรูปแบบดิจิทัลมาทดลองใช้ ไม่ว่าจะเป็น “ดิจิทัลหยวน” หรือ “ดิจิทัลบาท” ด้วยเหตุผลที่ว่าเงินที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลสามารถทำอะไรได้มากกว่า ตรวจสอบง่าย ใช้งานสะดวก หรือแม้แต่ผู้ประกอบการบางรายที่ลงทุนทำ “Digital Money” ของตัวเอง เช่น Line ที่สร้าง Line Coin เพื่อใช้ในการชำระค่าธุรกรรมในแพลตฟอร์มเครือข่าย หรือแม้แต่เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่พยายามสร้างสกุลเงินของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ “ระบบการเงิน” รูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างกับ “Cryptocurrency” สกุลเงินดิจิทัล หรือ เงินรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างสิ้นเชิง คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้คนหมู่มากเชื่อว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมันดี? หรือ Cryptocurrency มีมูลค่า เหมือนทองคำ?
ธนาคารกลาง ศัตรูหมายเลข 1 ของคริปโทฯ
การนำ “Cryptocurrency” หรือสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวันยังนับว่าเป็นเรื่องยาก อาจเป็นเพราะไม่มีคนหรือร้านค้ายอมรับมากพอ หรือแม้แต่ความผันผวนของราคาที่ไม่มีกรอบเพดานกั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นกำแพง (ศัตรูหมายเลข 1) ของ Cryptocurrency ที่เด่นชัด ตั้งตระหง่าน ก็คือธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และ Regulation ทั่วโลกที่ต่างปิดกั้น (ไม่สนับสนุน) การเติบโตของ “Cryptocurrency” อะไรคือสาเหตุเหล่านั้น?
ด้วยคุณสมบัติของ “Cryptocurrency” ที่เด่นชัดเรื่องความโปร่งใส ช่วยลดต้นทุน สามารถตัดตัวกลางออกจากระบบต่าง ๆ และมีการกระจายอำนาจสูง ยากต่อการควบคุม สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของนวัตกรรรมยุคใหม่ ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติที่จะเข้ามาปฏิวัติระบบการเงินแบบเดิม ๆ ทำให้ธนาคารกลางเสียอำนาจในการควบคุม เปรียบเสมือนการคานอำนาจกันระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ อีกทั้งจะมีสักกี่คนที่เข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน และสามารถใช้งาน “Cryptocurrency” ได้คล่อง เหมือนที่เราใช้เงินในปัจจุบัน
Crypto การลงทุน (ทางเลือก) เปิดประตูโอกาส
การมาถึงของ “Cryptocurrency” ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน ที่จะได้ลงทุนกับ “การเปลี่ยนแปลง” ไม่มีใครรู้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง “บิทคอยน์” จะกลายเป็นสินทรัพย์ชนิดใหม่ที่สามารถคงมูลค่าอย่าง “ทองคำ” ในอดีตหรือไม่ ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนเพื่อ “เปิดประตูโอกาส” ให้นักลงทุนได้พิจารณาอีกหนึ่งการลงทุนทางเลือก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาและให้น้ำหนักกับการลงทุนหลัก เช่น การลงทุนในทองคำ หรือ หุ้น ตราสารหนี้ (หลักทรัพย์) ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว สร้างกระแสเงินสดรับได้จริง มากกว่าการลงทุนทางเลือก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 65)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, SCOOP, กวี ชูกิจเกษม, คริปโทเคอร์เรนซี, บล.พาย, บิทคอยน์, สินทรัพย์ดิจิทัล, เงินดิจิทัล