โพลหอการค้า เผยลอยกระทงปี 65 คึกคักสุดในรอบ 5 ปี คาดเงินสะพัดกว่า 9.6 พันลบ.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงวันลอยกระทงปี 65 จากการสำรวจระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค. 65 จำนวน 1,254 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประชาชน 60.2% มองว่าบรรยากาศในวันลอยกระทงปีนี้สนุกสนานมากกว่าปี 64 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล มีการเปิดประเทศ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดมูลค่าการใช้จ่ายในวันลอยกระทงปีนี้ อยู่ที่ 9,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.9%

“มูลค่าการใช้จ่ายในวันลอยกระทงปี 65 ดีที่สุดในรอบ 5 ปี โดยขยายตัว 5.9% ถือว่าขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือกลับมาเป็นบวกในรอบ 5 ปี เนื่องจากปีก่อนมีฐานที่ต่ำมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับการวางแผนการลอยกระทง กลุ่มตัวอย่าง 32.1% ระบุว่า จะไปลอยกระทงและทำกิจกรรมอื่น ส่วน 19.9% ตอบว่าจะไม่ลอยกระทงแต่ไปทำกิจกรรม ขณะที่ 15.7% จะไปลอยกระทงเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ มี 22.5% ที่ตอบว่าไม่แน่ใจ และอีก 9.9% จะไม่ลอยกระทง

เหตุผลในการลอยกระทง คือ เพื่อผ่อนคลายความเครียด เป็นประเพณี และขอพร ตามลำดับ ส่วนเหตุผลที่ไม่ลอยกระทง เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เศรษฐกิจไม่ดี กลัวอันตราย กลัวคนเยอะ และกลัวโควิด ตามลำดับ

สำหรับกิจกรรมที่ประชาชนจะทำในวันลอยกระทง หลักๆ คือ ไปลอยกระทง โดยปีนี้กลุ่มตัวอย่างตอบว่าจะไปทานอาหารนอกบ้าน และเที่ยวชมสถานที่งานจัดลอยกระทงมากขึ้นกว่าปีก่อน โดยวางแผนการใช้จ่ายในวันลอยกระทงปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,920.39 บาท/คน ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายปี 65 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชน 43.3% ตอบว่าเพิ่มขึ้น แต่มาจากเหตุผลเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอยู่

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนการสำรวจทัศนะต่อสถานการณ์ทั่วไปในปัจจุบัน พบว่า ในเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดในปัจจุบัน 33% กังวลน้อย เพราะได้รับวัคซีนแล้ว อาการของโควิดในปัจจุบันไม่ร้ายแรง และมีสถานพยาบาลเพียงพอ ส่วน 25.8% ไม่กังวล เพราะได้รับวัคซีนแล้ว อาการของโควิดในปัจจุบันไม่ร้ายแรง และไม่ต้องกักตัว ขณะที่ 22.7% กังวลปานกลาง และอีก 18.5% กังวลมาก เนื่องจากกลัวมีผลข้างเคียงเมื่อติดเชื้อ และไม่อยากติดเชื้อ

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงความเห็นเมื่อประกาศยกเลิกโควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า มีความกังวลในการแพร่ระบาดรอบใหม่น้อย ทำให้มีงานทำมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่ก็มีความคึกคักมากขึ้น

สำหรับทัศนะต่อเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มองว่าดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นช่วงไตรมาส 2/66 ซึ่งถือว่ามีมุมมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วขึ้น จากผลสำรวจของเมื่อเดือน ก.ย. 65 ที่ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังปี 66

ส่วนเรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้, สร้างความเท่าเทียมกันของคนในสังคม, สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคนในประเทศ และช่วยเหลือเงินทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีทุนน้อย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากผลสำรวจมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีหายไป คือ สถานการณ์โควิด-19 คนมีความกังวลโควิดน้อยลง และเมื่อปรับเป็นโรคประจำถิ่น คนเริ่มคุ้นชิน และรู้สึกว่าสามารถดูและควบคุมได้ ทำให้คนไทยเริ่มกลับไปทำงานแบบปกติ ออกไปซื้อของในห้าง และเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นสัญญาณว่าสถานการณ์โควิดคลายตัวแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงรุนแรง เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำมันดีเซล โดยดีเซลถูกตรึงไว้ที่ 35 บาท/ลิตร จึงเป็นราคาที่ธุรกิจและประชาชนสามารถปรับตัวได้ ขณะที่เมื่อน้ำมันเบนซินถูกลง ประชาชนก็จะรู้สึกว่าเป็นการเอื้อต่อการขับรถ เดินทางไปเที่ยว ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำมันจึงคลายตัวลง

ในส่วนของปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าหลุด 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบลบต่อระบบเศรษฐกิจ คือ ไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ขณะเดียวกันส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ปีนี้การส่งออกน่าจขยายตัวในกรอบ 7-8% ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ยังมีส่วนหนุนให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวมากขึ้นด้วย โดยขณะนี้เริ่มเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกัน การประชุมเอเปคที่จะถึงนี้ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น มองว่าการท่องเที่ยวไทยในไตรมาสที่ 4/65 น่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณเดือนละ 1.5-2 ล้านคน ซึ่งทำให้ปี 65 มีนักท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 10 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้นได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากปัจจัยทั้งหมดจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/65 อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจแม้กลุ่มตัวอย่างจะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วขึ้นเป็นไตรมาส 2/66 แต่เหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างไม่มองว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 1/66 เพราะ สถานการณ์ปัญหารุมเร้าของทั่วโลกยังไม่ชัดเจน ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และปัญหาน้ำมันที่ราคาอาจทรงตัวสูงจากปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น และเชื่อว่าการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวนับจากนี้จนถึงปีใหม่น่าจะโดดเด่น ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรพลิกผันในอนาคต เศรษฐกิจไทยน่าจะพร้อมที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า จนประชาชนรับรู้ได้ โดยปีนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยโตในกรอบ 3.0-3.5%” นายธนวรรธน์ กล่าว

ในส่วนของเศรษฐกิจปีหน้า คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 3.5-4.0% ซึ่งมองในเกณฑ์บวกกรณีไม่มีปัจจัยลบรุนแรง อย่างไรก็ดี สัญญาณเศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลงมากน้อยเท่าไร จะปรากฏอยู่ในช่วงไตรมาส 1/66 และแม้จะมีการกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดเพิ่งปรับขึ้นไป 0.75% แต่ท่าทีของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง โดยมีอัตราการว่างงานอยู่เพียง 3.5% ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยยังไม่ซึมตัว หรือเป็นลักษณะแบบ Soft Landing ขณะที่ประเทศจีนเริ่มเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายเรื่องโควิด-19 ดังนั้น เศรษฐกิจจีนน่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากปีนี้ที่มองว่าจะโต 3.5% ปีหน้าน่าจะโตได้ประมาณ 4.0-4.5% ดังนั้น เมื่อปีหน้าจีนกลับมาเริ่มมีการเปิดประเทศ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ส่งออก และการท่องเที่ยวไทยน่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top