นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2565
ต่อมาในวันที่ 30 ก.ย.2565 กกพ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งแบ่งประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่ 1.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2.พลังงานลม 3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ การไฟฟ้ารายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีเอกชนให้ความสนใจยื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า(กริด) เมื่อวันที่ 3 – 28 ต.ค.ที่ผ่านมา มากถึง 7 เท่าของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดในครั้งนี้ แต่ต้องรอความชัดเจนจากการไฟฟ้าอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่สายส่งบางรายที่ขออาจมีการทับซ้อนกันทั้งในส่วนของ กฟผ. และ กฟภ. ทำให้ตัวเลขออกมามาก
สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ จะเปิดให้เอกชนยื่นขอผลิตไฟฟ้ายื่นและยืนยันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า พร้อมเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติ และข้อมูลความพร้อมทางด้านเทคนิคพร้อมเอกสารหลักฐานผ่านระบบ RE Proposal เพื่อลงนามและยื่นให้แก่การไฟฟ้า โดยระบบ RE Proposal เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.65 เวลา 00:01 น. จนถึงวันที่ 25 พ.ย.65 เวลา 12:00 น. และยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าภายใน 3 วันทำการ นับถัดจากวันที่ยืนยันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าผ่านระบบ RE Proposal แต่ต้องไม่เกินวันที่ 25 พ.ย.65 เวลา 12:00 น.
จากนั้นการไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ภายในวันที่ 2 ธ.ค.65 ,ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผ่านคุณสมบัติยื่นอุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กกพ. ภายในวันที่ 15 ธ.ค.65 ,สำนักงาน กกพ. ประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์คุณสมบัติ ภายในวันที่ 4 ม.ค.66 , สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ภายในวันที่ 18 ม.ค.66 ,ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ยื่นอุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กกพ. ภายใน 7 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ,สำนักงาน กกพ. ประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ภายในวันที่ 22 ก.พ.66
สำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือก ภายในวันที่ 15 มี.ค.66 ,การไฟฟ้าแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกลงนามทราบ และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 29 มี.ค.66 และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดวัน SCOD ที่ได้รับการคัดเลือก ภายใน 180 วัน (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 67 ถึง 68) หรือ ภายใน 2 ปี (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 69 ถึง 73)
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พ.ค.65 ที่เป็นกรอบแนวทางไปสู่ Net-Zero carbon Emission ของกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ กกพ. ยังคงต่อยอดและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าให้สามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสีเขียวตามแนวทาง Green Tariff ของ กกพ. ที่จะมีขึ้นในอนาคตต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 65)
Tags: กกพ., คมกฤช ตันตระวาณิชย์, เชื้อเพลิง, ไฟฟ้า