สหรัฐจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ซึ่งถึงแม้จะดูไม่เป็นข่าวดังเท่ากับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ผลการเลือกตั้งกลางเทอมจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลสหรัฐมหาศาล รวมไปถึงแนวนโยบายที่จะออกมาในอีก 2 ปีข้างหน้า
และแน่นอนว่าเรื่องการเมืองภายในของสหรัฐย่อมกระเทือนวุ่นวายกันไปทั้งโลก เข้าทำนองที่ว่า “แค่ผีเสื้อขยับปีกก็เกิดพายุได้”
วันนี้ In Focus จึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐที่จะชี้ชะตาว่า พรรครีพับลิกันจะกลับมาทวงอำนาจคืนได้หรือไม่ หรือปธน.โจ ไบเดน จะได้เป็นผู้นำแค่สมัยเดียว?
*การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐคืออะไร?
เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ขณะที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปทุก ๆ 4 ปี (ถ้ามี) โดยจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนายกรัฐมนตรีกันในคราวเดียว แต่ของสหรัฐก็จะเป็นอีกแบบ คือมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก ๆ 4 ปี และเลือกตั้งส.ส.กับส.ว.กันทุก ๆ 2 ปี หาก 2 ปีนั้นดันมาอยู่ช่วงระหว่างกลางที่ปธน.ยังดำรงตำแหน่งอยู่ ก็จะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งกลางเทอม
การเลือกตั้งดังกล่าวมีไว้เพื่อสภาคองเกรส ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือเรียกอีกอย่างว่าสภาล่างกับสภาบน โดยสภาล่างเป็นผู้โหวตเสนอกฎหมาย ส่วนสภาบนเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้กฎหมายที่เสนอมานั้นผ่านหรือไม่ผ่าน และมีอำนาจรับรองบุคคลที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งขึ้น รวมไปถึงตรวจสอบประธานาธิบดีได้ด้วย
แต่ละรัฐจะมีส.ว. 2 คนเท่ากันทุกรัฐ ดำรงตำแหน่ง 6 ปี ส่วนส.ส.ในแต่ละรัฐจะมีจำนวนมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนประชากรในรัฐนั้น ๆ และดำรงตำแหน่ง 2 ปี
การเลือกตั้งกลางเทอมดังกล่าว ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน โดยจะมีการชิงชัยเก้าอี้ส.ส.ทั้งหมดจำนวน 435 ที่นั่ง รวมทั้งการเลือกตั้งส.ว.จำนวน 35 ราย จากทั้งหมด 100 ราย นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐใน 39 มลรัฐ รวมทั้งการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกจำนวนมาก
*โพลล์ชี้รีพับลิกันชนะแลนด์สไลด์ในเลือกตั้งกลางเทอม
ผลการสำรวจของ RealClearPolitics พบว่า พรรครีพับลิกันจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐหลังการเลือกตั้งกลางเทอม จากปัจจุบันที่พรรคเดโมแครตมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่เล็กน้อย ส่วนการเลือกตั้งในวุฒิสภาจะเป็นไปอย่างสูสีระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ซึ่งก่อนการเลือกตั้งทั้งสองพรรคมีคะแนนเสียงเท่ากันอยู่ที่ 50-50
ในทำนองเดียวกัน โพลล์อีกสำนักจากเว็บไซต์ FiveThirtyEight ซึ่งใช้โมเดลคอมพิวเตอร์จำลองการเลือกตั้งกลางเทอม 40,000 ครั้ง แล้วสุ่มตัวอย่างออกมาเป็น 100 ผลลัพธ์ ผลปรากฏว่า รีพับลิกันมีโอกาสชนะสภาล่างถึง 84 ต่อ 100 และมีโอกาสชนะสภาบน 52 ต่อ 100
ไม่เพียงแต่ผลโพลล์ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ข้อมูลในสถิติเองก็บ่งชี้ว่า การเลือกตั้งกลางเทอมนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา พรรคของประธานาธิบดีสูญเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปถึง 17 ครั้ง จากทั้งหมด 19 ครั้ง และเสียที่นั่งในวุฒิสภา 13 ครั้ง จากทั้งหมด 19 ครั้ง
เจ้าหน้าที่หลายรายในทำเนียบขาวยอมรับว่า พวกเขามีความกังวลว่าพรรคเดโมแครตอาจสูญเสียเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา ขณะที่ผลสำรวจพบว่าพรรคเดโมแครตอาจเสียเก้าอี้ในวุฒิสภาในหลายรัฐให้แก่พรรครีพับลิกัน หลังจากที่ชาวอเมริกันไม่พอใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของรัฐบาล
*ปัญหาปากท้อง: ประเด็นชี้เป็นชี้ตายผลการเลือกตั้ง
ผลสำรวจจากแกลลัพ (Gallup) ของเดือนก.ย.ระบุว่า คนอเมริกัน 38% เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในปัจจุบัน โดยในจำนวนดังกล่าวให้ความสำคัญกับเรื่องค่าครองชีพสูง/ภาวะเงินเฟ้อถึง 17% รองลงมาคือสภาพเศรษฐกิจทั่วไป 12% และราคาเชื้อเพลิง/น้ำมัน 3%
ส่วนปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจนั้น ประชาชนมองว่ารัฐบาล/ภาวะผู้นำไม่ดี เป็นปัญหาสำคัญที่สุดถึง 22% รองลงมาคือปัญหาผู้อพยพ 6% และปัญหาเหยียดเชื้อชาติ 5% ส่วนเรื่องสิทธิในการทำแท้งที่เคยได้ 8% เมื่อเดือนก.ค. กลับลดเหลือเพียง 4% ในเดือนก.ย.
ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นจุดตายของรัฐบาลพรรคเดโมแครต โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่สหรัฐและชาติพันธมิตรออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียโทษฐานที่บุกยูเครน จนส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น และค่าครองชีพในสหรัฐก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ส่วนภาวะเงินเฟ้อก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น อันเป็นผลพวงจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ และจากที่ปธน.ไบเดนออกมาตรการแจกเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
พรรคเดโมแครตเองก็พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการผลักดันร่างกฎหมายต่าง ๆ ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งกลางเทอม โดยปธน.ไบเดนได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน, มาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ได้ในราคาที่ถูกลง และการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15% จากบริษัทใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังหาทางลดราคาน้ำมันในสหรัฐอีกด้วย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปธน.ไบเดนเยือนซาอุดีอาระเบียเพื่อหารือกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน โดยเรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพิ่มกำลังการผลิต แต่ปธน.ไบเดนก็ต้องกลับบ้านมือเปล่าโดยไม่ได้ข้อตกลงอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
และถึงแม้ปธน.ไบเดนได้ประกาศว่าจะระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) รวม 180 ล้านบาร์เรลในเดือนพ.ค.-ต.ค. แต่ราคาน้ำมันกลับไม่ได้ปรับตัวลงตามไปด้วย จนล่าสุด (1 พ.ย.) ปธน.ไบเดนถึงกับขู่ว่า รัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีกับบริษัทน้ำมันรายใหญ่เพิ่ม หากบริษัทเหล่านี้ไม่ดำเนินการปรับลดราคาน้ำมัน
*มาตรการซื้อใจประชาชนจาก “ไบเดน” หวังเรียกคะแนนก่อนศึกเลือกตั้ง
แม้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่ค่อยดีนัก แต่รัฐบาลเดโมแครตก็พยายามแก้ลำด้วยการซื้อใจประชาชนในเรื่องอื่น ๆ
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลยังพยายามดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มที่สนับสนุนสิทธิการทำแท้ง โดยหลังจากที่ศาลฎีกาสหรัฐประกาศยกเลิกสิทธิการทำแท้งในสหรัฐเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ปธน.ไบเดนเองก็ได้แสดงความผิดหวัง พร้อมเรียกร้องให้ชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงเลือกส.ส.และส.ว.ที่สนับสนุนการใช้สิทธิทำแท้งตามรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งกลางเทอม
ต่อมาในเดือนส.ค. ปธน.ไบเดนก็ประกาศแผนการล้างหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คนละ 10,000 ดอลลาร์แก่นักศึกษา นอกจากนี้ จะยกเลิกหนี้ให้ผู้กู้ยืมในโครงการเพลล์ แกรนต์ส (Pell Grants) คนละไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์อีกด้วย เพื่อรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ในการหาเสียงเมื่อปี 2563 และอาจช่วยเพิ่มแรงสนับสนุนพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอม
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังเอาใจสายเขียวด้วยการอภัยโทษให้กับผู้กระทำความผิดคดีครอบครองกัญชาภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่าการจากทุกรัฐทั่วประเทศอภัยโทษผู้กระทำความผิดในคดีลักษณะเดียวกัน
มาตรการเหล่านี้เองส่งผลให้คะแนนนิยมของปธน.ไบเดนปรับตัวขึ้นแตะ 41% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย. ตามผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอส อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมที่น้อยกว่า 50% นี้เองถือเป็นสัญญาณด้านลบต่อพรรคเดโมแครต
*ผลพวงที่เป็นไปได้หลังพ้นการเลือกตั้งกลางเทอม
หากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งกลางเทอมได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสตามผลโพลล์สำนักต่าง ๆ ก็จะทำให้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในช่วงที่เหลืออีก 2 ปีเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยคาดว่าพรรครีพับลิกันจะขัดขวางการผ่านกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
“ถ้าเราแพ้ทั้งสภาล่างและสภาสูง สองปีต่อจากนี้จะลำบากอย่างยิ่ง ผมคงจะมัวแต่จรดปากกาเซ็นวีโต (veto) จนไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” ปธน.ไบเดนกล่าว
นอกจากนี้ หากรีพับลิกันชนะ ก็อาจสั่งยุติการสอบสวนคดีที่กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 หลังทางคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบและพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อดีตปธน.ทรัมป์จากรีพับลิกันมีส่วนในการยุยงปลุกปั่น โดยหวังจะขัดขวางการรับรองชัยชนะของปธน.ไบเดน
ยิ่งไปกว่านั้น รีพับลิกันอาจจะผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นการเอาใจฝ่ายขวา อาทิ ให้การทำแท้งผิดกฎหมาย ให้พกปืนได้เสรี ปรับลดภาษี ไปจนถึงยุติการให้เงินและอาวุธสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซีย
อย่างไรก็ดี หากเดโมแครตดันชนะเลือกตั้งกลางเทอมชนิดหักปากกาเซียน นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วก็จะดำเนินได้ต่อไป และอาจเพิ่มแนวโน้มที่ไบเดนจะตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกในสมัยหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 65)
Tags: พรรครีพับลิกัน, พรรคเดโมแครต, เงินเฟ้อ, เลือกตั้ง, เลือกตั้งสหรัฐ, โจ ไบเดน