น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.65 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน
ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ (short-haul) อาทิ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเฉพาะในเดือนก.ย. อยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน ขณะที่ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 5.68 ล้านคน
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ และการส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ โลหะ และสินค้าเกษตรแปรรูป
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การใช้จ่ายในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคสินค้าในหมวดอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงเล็กน้อยจากยอดขายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทรงตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดเคมีภัณฑ์ที่ความต้องการจากต่างประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงตาม 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนและเชื้อเพลิง 2) หมวดสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักร มอเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามกรอบงบประมาณที่ลดลง ประกอบกับมีการเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยรายจ่ายประจำหดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านคมนาคม สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและพลังงานเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และผลของฐานต่ำที่หมดไป หลังมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ และคาดว่าทั้งปีจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 14.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ภาคท่องเที่ยวจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น รายได้ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา ซึ่งจะช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดทยอยขาดดุลลดลง
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยกลับมาอ่อนค่าตามเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ส่วนภาพรวมไตรมาส 3/65 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่คลี่คลายลง สำหรับภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวด้านอุปทาน อาทิ การบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่ตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง
แนวโน้มเดือน ต.ค.65 และระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2) อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3) การแพร่ระบาดของ COVID-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค. ยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไปได้ดี แม้ในเดือนนี้จะมีวันหยุดยาวติดต่อกัน 2 ช่วง ภาคอสังหาฯ ก็ฟื้นตัวดีขึ้น เห็นความต้องการทั้งในส่วนของอสังหาฯ ทั้งแนวราบ และคอนโดฯ แต่ก็อาจจะมีความกังวลจากปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น และการสิ้นสุดมาตรการ LTV ที่จะไม่ขยายเวลาผ่อนคลายมาตรการแล้ว” น.ส.ชญาวดี ระบุ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกในช่วงหลังจากนี้ไปอาจจะเริ่มชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้เพิ่งจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพราะวัฎจักรเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากหลายประเทศอื่น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรงเกินไป ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรง จนทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาใช้ยาแรงในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงทำให้ ธปท.มีความจำเป็นต้องรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาแรงดังเช่นประเทศอื่นๆ ด้วยการทยอยปรับลดมาตรการที่มีความจำเป็นน้อยลง รวมทั้งทยอยลดมาตรการที่มีการผ่อนคลายในวงกว้าง ที่อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งล่าสุด คือการยุติการเปิดรับการขอความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) หลังจากวันที่ 31 ธ.ค.65 เป็นต้นไป ซึ่งคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบวิธี และขั้นตอนการยุติดำเนินการของกองทุนฯ ต่อไป
“กองทุน BSF ตั้งมาเพื่อช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ ในช่วงนั้นที่มีความเสี่ยงสูง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด แต่ปัจจุบันสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่เห็นความผิดปกติในตลาดตราสารหนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนนี้แล้ว” น.ส.ชญาวดี ระบุ
ส่วนปัญหาการแสดงตัวตนที่เครื่อง CDM ซึ่งจะต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตนั้น ล่าสุดธนาคารพาณิชย์ ได้เลื่อนการใช้ข้อปฏิบัตินี้ออกไปแล้ว โดยระหว่างนี้ ธปท.จะได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนดังกล่าว ซึ่งในอนาคตอาจจะมีทางเลือกอื่น เช่น การใช้รหัส OTP หรือการใช้ Mobile APP
“ผู้เกี่ยวข้อง ก็ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน ก็อาจจะมีทางเลือกอื่นให้ เช่น การใช้ OTP หรือใช้ Mobile App ก็ต้องมาคุยทางเลือกกันก่อน ถึงจะบอกได้ว่าจะเลื่อนบังคับใช้ไปเมื่อไร” น.ส.ชญาวดี ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 65)
Tags: ท่องเที่ยว, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย