นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มช่องทางการให้บริการแบบดิจิทัลรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ต้องการบริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย จึงพัฒนาช่องทางการขอสินเชื่อแฟคตอริ่งแบบออนไลน์ให้ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ด้วยตนเอง ลดเวลากระบวนการอนุมัติด้วย Scoring ทราบผลได้ใน 24 ชม.นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้บริษัทและลูกค้า เบื้องต้นคาดว่าจะเสร็จต้นปี 66 ซึ่งจะถือว่า AF เป็นผู้ให้บริการแฟคตอริ่งออนไลน์รายแรกในกลุ่ม Non-Bank
นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่นต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบวงจร ทั้งรูปแบบการให้บริการสินเชื่อหมุนเวียน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้บริการสินเชื่อกับ AF อยู่แล้ว ตลอดจนให้บริการสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจแบบครบวงจร และขยายบริการสินเชื่อระยะยาวสำหรับขยายกิจการ รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งด้านระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management :CRM) ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายอัครวิทย์ กล่าวว่า บริการยื่นขอสินเชื่อในรูปแบบใหม่ ภายใต้ “แฟคตอริ่งออนไลน์” จะส่งผลให้ AF ก้าวสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ในรูปแบบดิจิทัลรายแรกในประเทศไทย ซึ่ง AF ตั้งเป้าให้บริการด้านสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ในช่วง 3 ปีแรก (ปี 66-68) โดยปีแรกคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ราว 100 ล้านบาท และปล่อยให้ได้ 300 ล้านบาทใน 2 ปีถัดไป
ปัจจุบัน AF มี Factoring Volume ประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ภาพรวมในปี 65 ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น สัญญาณการบริโภคเพิ่มขึ้น คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตาม GDP จากที่หลายฝ่ายประเมินว่าในปี 66 GDP ของประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ระดับ 3.5-4.2% ภายใต้สมมติฐานการท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ส่งผลให้ภาคบริการปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุน (FDI) ไหลเข้าจากต่างชาติ ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น การบริโภคภายในประเทศจึงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มธุรกิจ SME เริ่มมีการผลิตและการขายเพิ่มขึ้น คาดว่าความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น จึงมองว่าธุรกิจแฟคตอริ่งจึงมีโอกาสได้รับอานิสงส์เชิงบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบัน AF มี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ครบทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วย 1. สินเชื่อแฟคตอริ่ง, 2. สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน (Exclusive PN) สำหรับลูกค้าเก่าประวัติดี, 3. สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว (Long-Term Investment) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต หรือลงทุนในด้านพลังงานทดแทน เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการ และ 4. สินเชื่อสำหรับ Supply chain ผู้ซื้อรายใหญ่ (AFP : Account Payable Financing Program) ขณะเดียวกันในปี 2566 AF ยังมีแผนออก Product ใหม่ อย่างน้อย 2 ผลิตภัณฑ์ โดยจะเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง
AF จะเน้นเพิ่มความถี่ในการทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เกิด Brand Awareness (สร้างการรับรู้แบรนด์) และจะนำมาซึ่งฐานลูกค้าใหม่ๆ พร้อมทั้งเน้นกลยุทธ์ Synergy คือ การทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม “ไอร่า กรุ๊ป” ที่มีกว่า 10 บริษัท และมีฐานลูกค้าต่างอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 65)
Tags: AF, หุ้นไทย, อัครวิทย์ สุกใส, ไอร่า แฟคตอริ่ง