นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย.65 อยู่ที่ระดับ 97.9 ขยายตัว 3.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 3 ปี 65 ขยายตัว 8.06% และช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.65) ดัชนี MPI ขยายตัว 2.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ภาพรวมการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 หลังสถานการณ์ขาดแคลนชิปคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกยานยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือน ก.ย.65 อยู่ที่ระดับ 63.18% ลดลงจากระดับ 63.72% ในเดือน ส.ค.65 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 9 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.4%
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน ก.ย.65 ได้แก่ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศตามสถานการณ์การระบาดของโควิดที่คลี่คลาย ส่งผลถึงการขยายตัวการผลิตผลิตภัณฑ์สาคัญ เช่น ปิโตรเลียม สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น เบียร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ ส่วนตลาดส่งออกยังคงขยายตัวได้ โดยตลาดหลักที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน และสหภาพยุโรป
ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อ ยังคงส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตอยู่ แต่มีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สศอ. คาดการณ์ว่าในปี 65 ดัชนี MPI จะขยายตัวได้ 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดไว้ 4-5% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 2-3% จากเดิมคาด 2.5-3.5%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ ในเดือน ก.ย.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.98% จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก หลังจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.68% จากน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน 95 จากการเดินทางในประเทศของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.59% จากแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ IC ตามการขยายตัวของตลาดโลก
- จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 72.69% ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศและการส่งออก หลังจากปีที่แล้วฐานต่ำ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานผลิตชิ้นส่วน ทำให้ผู้ผลิตขาดชิ้นส่วนเพื่อทำการผลิต
- น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.41% จากน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการผลิตในเดือน ต.ค.65 ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ, สถานการณ์การส่งออกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง, ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อระบบห่วงโซ่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงวัตถุดิบจากภาคเกษตรในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ เงินบาทอ่อนค่า, วิกฤตพลังงานจากความผันผวนเรื่องราคาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมภาคการผลิตในภาพรวม ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือและมีมาตรการป้องกันจากประสบการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2554 ส่วนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อาหารแปรรูปที่ต้องใช้วัตถุดิบจากการพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งอาจเกิดปัญหาขาดแคลนในระยะสั้นๆประมาณ 1-3 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 65)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ., เศรษฐกิจไทย