รมช.พาณิชย์ เตรียมร่วมประชุมคณะมนตรีศก.อาเซียน ดันร่างวิสัยทัศน์-การพัฒนายั่งยืน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 21 ระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อสรุปผลการดำเนินงานก่อนเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 รวมทั้งจะประชุมร่วมกับรัฐมนตรีอาเซียน 3 สาขา ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านการขนส่ง และด้านเกษตรและป่าไม้

นายสินิตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมมี 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. การพิจารณาจัดทำองค์ประกอบหลักของร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2568 (Post-2025 Vision) ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ เพื่อรวมเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ฉบับใหม่ ซึ่งจะเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองในปี 2568 และ 2. เตรียมการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน โดยจะมีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีอาเซียน 3 สาขา ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านการขนส่ง และด้านเกษตรและป่าไม้ เพื่อหาแนวทางผลักดันอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมจะมีการติดตามความสำเร็จของประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ (Priority Economic Deliverables: PEDs) ที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ โดยเฉพาะประเด็นการเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA)

ขณะเดียวกัน ได้หารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยจะให้ความเห็นชอบปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยการพลิกโฉมการท่องเที่ยวอาเซียน ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกต่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 รวมทั้งรับทราบผลการประเมินเชิงลึกถึงความพร้อมของติมอร์-เลสเต ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน เพื่อสรุปผลการดำเนินงานเสนอต่อผู้นำอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการรับรองเอกสารสำคัญ อาทิ แผนดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี ค.ศ.2023-2030 ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียน เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น อาเซียนจะเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำ และช่วยส่งเสริมนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 65) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 96,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 55,997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 40,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top