SGC จ่อขาย IPO หลังนับหนึ่งไฟลิ่ง เป้าขยายพอร์ตสินเชื่อแตะ 5 หมื่นลบ.ปี 69

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม บมจ. เอสจี แคปปิตอล (SGC) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบไฟลิ่งของ SGC เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 โดยขณะนี้ SGC อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดธุรกิจ เงินทุนและหลักทรัพย์

SGC จะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 820 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.08% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ ประกอบด้วย การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 574 ล้านหุ้น (หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด) มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Right) อัตราส่วน 1.4326 หุ้นสามัญของ SINGER ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน SGC ราคาเสนอขายเดียวกับราคาเสนอขายหุ้น IPO

ทั้งนี้ SINGER ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น SGC ก่อน IPO 100% และภายหลัง IPO จะมีสัดส่วนการถือหุ้น 74.92%

นายธีร์ จารุศร บล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวเสริมว่า SGC จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ บางส่วน เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโต และข้อจำกัดด้านต้นทุนทางการเงินที่คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สนับสนุนความน่าสนใจให้ SGC มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในอนาคต

ด้านนางสาวบุษบา กุลศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ SGC เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโต และขยายธุรกิจสินเชื่อภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำในธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ขยายตัวไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในประเทศ และสร้างการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืนในฐานะผู้นำด้านสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีหลักประกัน โดยมุ่งเน้นการขยายธุรกิจด้านสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันโดยเฉพาะรถบรรทุก และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับสินค้าและบริการในเครือซิงเกอร์ประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ

บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของมูลค่าลูกหนี้พอร์ตสินเชื่อทะยานสู่ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 69 จาก ณ สิ้นงวดครึ่งปีแรกของปี 65 มีมูลค่าลูกหนี้ 13,808.66 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์ของ SGC ประกอบด้วย (1) สินเชื่อประเภทให้เช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (รถบรรทุก รถยนต์นั่ง ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์) ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” (2) สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในครัวเรือน (Home Appliances) เครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Commercial Appliances) และ เครื่องจักร (Captive Finance) (3) สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน (Debt Consolidation) และ (4) สินเชื่อผ่อนทอง (Click2Gold)

SGC มั่นใจว่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการเติบโตของผลการดำเนินงานต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สะท้อนความเชื่อมั่นต่อลูกค้า และความสำเร็จของกลยุทธ์การขยายธุรกิจด้านสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ตอกย้ำ SGC เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสินเชื่อและสินเชื่อเช่าซื้อสินค้าที่ครองใจผู้บริโภคทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ

ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 65 มีรายได้รวม 1,030.68 ล้านบาท เติบโต 18.36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากรายได้ดอกเบี้ย ประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อรถทำเงิน 46.57% และรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร สัดส่วน 50.42%และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 306.91 ล้านบาท ขณะที่ปี 64 SGC มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,781.82 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 593.03 ล้านบาท ตามลำดับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top