สศค.ปรับประมาณการ GDP ปี 65 โต 3.4% ส่วนปี 66 คาดโต 3.8% ท่องเที่ยวหนุน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เป็นเติบโต 3.4% จากเดิมคาดเติบโต 3.5% ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในปี 66 เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้มากขึ้นจากคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ขณะที่การส่งออกอาจจะเติบโตชะลอลงจากที่ขยายตัวได้สูงในปึนี้

“ปีนี้การลงทุนบางส่วน โดยเฉพาะก่อสร้างชะลอลงไปบ้าง จากปัจจุบันต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งวัตถุดิบต่าง ๆ สูงขึ้นเป็นไปตามกลไกราคา” ผู้อำนวยการ สศค. ชี้แจงสาเหตุของการปรับคาดการณ์ GDP ปี 65 ลงเล็กน้อย

สศค.คาดว่าในปี 65 การส่งออกจะเติบโต 8.1% ก่อนจะชะลอลงเหลือเติบโต 2.5% ในปี 66 เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ปีนี้จะเติบโตราว 16.6% จะชะลอลงเหลือเติบโต 3.0% ในปีหน้า ส่งผลในปีนี้เกินดุลการค้า 23.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปีหน้าเกินดุลการค้า 22.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าปีนี้จะขาดดุล 13.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะพลิกมาเป็นเกินดุล 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 66

ขณะที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีมากขึ้น โดยปรับคาดการณ์ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 เพิ่มเป็น 10.3 ล้านคน จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดไว้ 8 ล้านคน สร้างรายได้จากท่องเที่ยว 4.9 แสนล้านบาท จากนั้นในปี 66 คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมาในข่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะทำให้ยอดรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้นมาเป็น 21.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.04 ล้านล้านบาท

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดการณ์ที่ระดับ 6.2% จากนั้นในปีหน้าจะชะลอลงเหลือ 2.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้อยู่ที่ 2.6% จากนั้นจะลดลงมาที่ 2.4% ในปีหน้า

สศค. ยังประเมินสมมติฐานสำคัญที่มีผลต่อการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 และ 66 ไว้ดังนี้

1. เศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้า คาดว่าในปีนี้จะเติบโตได้ 3.4% ชะลอลงจากปี 64 จากผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบมาถึงราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และสหภาพยุโรปชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้ ยังต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อราคาพลังงานโลก รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศที่เข้มงวดขึ้นจากผลของอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว

2. ค่าเงินบาทในปี 65 คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 35.60 บาท/เหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลง -11.2% จากในปี 64 ซึ่งเป็นผลมาจากทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศที่ต้องดูแลเงินเฟ้อสูง ซึ่งมีผลให้ตลาดเงินโลกมีความผันผวน ส่วนในปี 66 คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 36.68 บาท/เหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลง -3% จากปี 65 โดยเงินบาทช่วงต้นปี 66 ยังอ่อนค่าต่อเนื่องจากอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และจากนั้นคาดว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยว

3. ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 99 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 43.1% จากปี 64 ส่วนในปี 66 คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลง 7.1% จากปี 65

4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 เพิ่มเป็น 10.3 ล้านคน จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดไว้ 8 ล้านคน สร้างรายได้จากท่องเที่ยว 4.9 แสนล้านบาท ส่วนในปี 66 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มเป็น 21.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.04 ล้านล้านบาท

นายพรชัย กล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อาจเข้ามาท่องเที่ยวได้เร็วกว่าที่คาดตามแนวทางการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

ส่วนปัจจัยเสี่ยง อาทิ การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานและด้านอาหาร และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top