ก.พลังงาน เตรียมมาตรการของขวัญปีใหม่บรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน-ตรึงค่าไฟ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายหัวข้อ “ถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานโลก สะเทือนถึงไทย” ในการเสวนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ “ฝ่าวิกฤติพลังงานโลก ทางรอดพลังงานไทย” ว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือน พ.ย. 65 ให้ของขวัญปีใหม่ประชาชน ด้วยการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน พร้อมตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกปี 66 (ม.ค.-เม.ย.)ไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

“กระทรวงพลังงาน เตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ย. 2565 นี้ เพื่อพิจารณาทั้งเรื่องของราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของค่าไฟ ยังจะดูแลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อไป รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย”

นายกุลิศ กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมากจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานเข้าไปดูแลทั้งค่าไฟฟ้า,ราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร และปัจจุบันยังตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยราคา

หลังจากนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการหลายด้านเพื่อดูแลราคาพลังงานในประเทศ โดยจะพยุงอัตราค่าไฟฟ้าระหว่างไตรมาส 4/65 ถึงไตรมาส 1/66 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยหากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) สูงเกิน 25 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้ดีเซล ประมาณ 200-300 ล้านลิตร

รวมถึงขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ(ถ่านหิน) โรงที่ 8 ที่ได้หมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.64 ให้ยืดอายุต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ในอัตราประมาณ 2-3 บาท/หน่วย และยังมีแผนให้นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้ม (EIA) คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้จะต้องเร่งการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศ ทั้งการเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณ และเพิ่มการผลิตก๊าซฯแหล่งอื่นๆ ตลอดจนการจัดซื้อก๊าซฯจากประเทศเมียนมาเพิ่มเติมทั้งแหล่งซอติก้า และยาดานา รวมถึงซื้อก๊าซฯเพิ่มจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ จะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อลดการใช้น้ำมัน ซึ่งจากข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 ยอดซื้อรถ EV เพิ่ม 223% หรือ อยู่ที่ 13,298 คัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ก็อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนรถ EV ให้ประชาชนเข้าถึงรถ EVได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูแลเรื่องของการจัดทำระบบชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวก ขณะเดียวกัน 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ก็ได้เร่งประสานงานจัดทำเรื่องข้อมูลเชื่อมโยงการใช้แอพลิเคชันรองรับการใช้งานรถ EV ที่หลากหลายยี่ห้อ ให้สามารถเชื่อมฐานข้อมูลทั้งระบบ และในช่วงกลางปี 2566 กฟผ.จะเริ่มจัดทำระบบชำระค่าบริการชาร์จไฟฟ้าของรถ EV ที่ชำระร่วมกันได้

พร้อมกันนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ รวมกว่า 10,900 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถึง 6,000 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. 2,700 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ฟาร์ม 3,000 เมกะวัตต์ ,โซลาร์รูฟท็อป 300 เมกะวัตต์

และจะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยกำหนดไว้เพียง 500 เมกะวัตต์ ,ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ 800 เมกะวัตต์​, ขยะอีก 600 เมกะวัตต์​ แบ่งเป็นขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 2,000 เมกะวัตต์

ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย ทำเรื่องสมาร์ทกริด และสมาร์ทมิเตอร์ ให้พร้อมรองรับเรื่องของพลังงานหมุนเวียน และรถ EV ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1 ปี (6 ต.ค.65-5 ต.ค.66) นั้น ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( สกนช.) ได้จัดทำรายละเอียดการใช้เงิน และแผนชำระหนี้มาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้ว คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือน พ.ย.65 และน่าจะได้รับเงินกู้ก้อนแรกในเดือน พ.ย.

เบื้องต้นแผนเงินกู้จะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรก วงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี

สำหรับราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95-98 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล แต่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ความต้องการใช้น้ำมันยังน่าจะสูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้ช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา โดยประเมินว่า ช่วงไตรมาส 4/65 ราคาก๊าซ LNG จะขึ้นไปที่ราว 40-50 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ขณะที่ราคา spot LNG เดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู

ขณะที่ มอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ปี 66 ราคา LNG จะอยู่ 39 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู และไตรมาส 2/66 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 เหรียญสหรัฐฯ /ล้านบีทียู ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ กลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) มองว่าปี 66 จะอยู่ประมาณ 39 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู

กระทรวงพลังงาน ประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในปี 66 อยู่ที่ระดับ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ก็ใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซล ประมาณ 2-3 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 35 บาท/ลิตร ลดลงจากก่อนหน้าที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาท/ลิตรช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

นายกุลิศ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือคนไทยทุกคนจะต้องตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และต้องเริ่มเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพราะค่าไฟฟ้าจะไม่ใช่ของถูกอีกต่อไป ดังนั้น กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ก็ต้องเริ่มการประหยัดตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้า และขยายสู่ระดับสาธารณะ แต่ที่สำคัญสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูงจะต้องมุ่งเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top