การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วยผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ที่จังหวัดนครราชสีมา
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวฯ มีมูลค่าการลงทุนสูง รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา และต่อมาในปี 2564 กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
รฟม. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบ Steel Wheel Tram รถไฟฟ้ารางเบาหรือรถราง โดยใช้ระบบล้อเลื่อน (Rolling Stock) 2) ระบบ Tire Tram รถรางชนิดใช้ล้อยาง ที่มีระบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคอง (Guided Light Transit) หรือระบบรางเสมือน (Track Less) และ 3) ระบบ E-BRT (Electric Bus Rapid Transit) รถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ไม่มีราง
โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบ ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี, ความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองนครราชสีมา, ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร, ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน, ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ, ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) และด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง, ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ)
ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมามากที่สุด คือ ระบบ E-BRT รองลงมาคือ ระบบ Tire Tram และระบบ Steel Wheel Tram ตามลำดับ ทั้งนี้ รฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ได้รับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาในลำดับต่อไป
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดนครราชสีมา ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก โครงการฯ มีระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 21 สถานี (อยู่บนทางหลวง 9 สถานี และอยู่ในเขตเมือง 12 สถานี) ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สถานีแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานีชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณปลายทางสถานีบ้านนารีสวัสดิ์
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการฯ จะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571 (แผนการดำเนินงานโครงการฯ ณ เดือนเมษายน 2565) ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษ ในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 65)
Tags: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้า, รฟม., สมเกียรติ วิริยะกุลนันท์, สาโรจน์ ต.สุวรรณ