ในขณะที่หลายประเทศต่างเริ่มสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สร้าง Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อนำมาใช้งาน โดยเปิดให้ทดลองใช้งานในวงจำกัดเพื่อเป็น Pilot Test ก่อนนำมาใช้ในวงกว้าง
ธปท.จัดการแข่งขัน CBDC Hackathon เพื่อเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินและธุรกิจ แก้ไขข้อจำกัดของระบบการเงินในปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก และ ธปท.ได้คัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบ ซึ่ง บริษัท ที-อีโคซิส จำกัด (T-ECOSYS) บริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท.(PTT) ได้ผ่านเข้ารอบ 2 ทีม ได้แก่ ทีม “Smart Deep Tier” และทีม “TExTKX Innovation for SMEs” ที่ “Token X” ได้เข้ามามีส่วนร่วม
อนาคตของ CBDC จะเป็นอย่างไร ? CBDC เอามาทำอะไรได้บ้าง !? วันนี้ Crypto INSIGHT จะพาทุกคนไปพูดคุยกับเหล่าผู้บริหารจากทีม T-ECOSYS เกี่ยวกับอนาคตของ CBDC ระบบการเงินแบบใหม่ ที่จะเปลี่ยนวิถีการเงินของเราไปตลอดกาล
อนาคตของ CBDC ที่จะเกิดขึ้นจริง ?
นายพิชัยรัตน์ จิรานันรัตน์ กรรมการ บริษัท ที-อีโคซิส จำกัด กล่าวว่า CBDC คือ “สกุลเงินดิจิทัล” ที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งสามารถควบคุมการออกเงินให้เป็นแบบดิจิทัลได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งต่างจาก Cryptocurrency ที่ออกโดยภาคเอกชนหรือองค์กรอิสระ ถือเป็นนวัตกรรมการเงินที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบการเงิน เนื่องจากลดการอาศัยตัวกลางของระบบเดิม แถมยังสามารถ “Build In” เงื่อนไขของธุรกิจบางอย่างได้ หรือที่เราเรียกกันว่า “Programmable Money”
ทั้งนี้ ธปท.ถือเป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ของโลกที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งมาตั้งแต่ปี 61 ภายใต้โครงการ “อินทนนท์” และได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกง และธนาคารกลาง UAE ทดสอบระบบโอนเงินสกุลดิจิทัลข้ามประเทศระหว่างกันไปแล้วก่อนหน้า
มาในปี 65 นี้ ธปท.ริเริ่ม Pilot Test เพื่อทดสอบการใช้งาน CBDC สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) โดยได้จัดการแข่งขัน “CBDC Hackathon” ขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมเสนอนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อร่วมหารือในเรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เพื่อให้มั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่าง ๆ ก่อนนำไปใช้งานในวงกว้าง
“Digital Asset จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืน เพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity) ให้กับภาคอุตสาหกรรม ยกระดับให้เกิด “Industrial Transformation” ที่สามารถมีมูลค่าได้ โดยมี Digital Asset & Digital Infrastructure ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศพื้นฐานที่ T-ECOSYS ต้องการผลักดันเพื่อช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น” นายพิชัยรัตน์กล่าว
CBDC การเงินยุคใหม่จากใจปตท.
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT กล่าวว่า สายงานการเงินของ ปตท.ทำงานร่วมกับ T-ECOSYS และได้ร่วมทำ Workshop เพื่อสนับสนุนและหาโอกาสในการสร้างนวัตกรรมด้านการเงินใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้งานในกลุ่ม สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยหวังว่าจะอช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด่วยนวัตกรรมการเงิน CBDC เบื้องต้น อาจจัดทำเป็นรูปแบบโครงการนำร่องในกลุ่ม ปตท. เพื่อติดตามและพิจารณาความสำเร็จของโครงการ และทำการขยายผลไปสู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป
“กลุ่ม ปตท. และสายงานการเงิน ปตท. สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ประโยชน์ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเรื่อง CBDC เพื่อจะนำมาใช้ในธุรกรรมทางการเงินด้านการจ่ายเงินและรับเงินจากลูกค้า รวมถึงศึกษาเรื่องการนำ Digital Token มาใช้ในการระดมทุน”
นางสาวพรรณนลิน กล่าว
Token X ชี้เป้า “CBDC” ไปได้อีกไกล !!
ขณะที่นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า IDP หรือ Industrial Digital Platform ที่ T-ECOSYS พัฒนา จะเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมต่อภาคอุตสาหกรรมเข้ากับทรัพยากรและนวัตกรรมทางด้านการเงิน โดยการแข่งขัน “CBDC Hackathon” ทาง Token X ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระดมทุนรูปแบบใหม่ เช่น การเสนอขายโทเคนโดยตรงสำหรับภาคอุตสาหกรรม มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาผสมผสานกับสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในภาคธุรกิจ
หากเรานำคุณสมบัติของ CBDC มาผนวกเข้ากับ Smart Contract จะทำให้เกิด Programmability ที่เราสามารถใส่คำสั่ง หรือตั้งเงื่อนไขในการปฏิบัติงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้คน ช่วยเพิ่มความโปร่งใส เพิ่มความน่าเชื่อถือ และลดต้นทุนในการดำเนินงานได้
“ประเทศไทยนับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือว่า CBDC มาใช้งาน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ รวมไปถึงความโปร่งใส อย่างที่เราเห็นว่าโลกของเรามีการปรับเข้าสู่ Digital Technology มากขึ้น เราจะเริ่มเห็นการใช้เงินที่เป็นรูปแบบเดิม ๆ (Physical Money) น้อยลง มีการใช้เงินที่เป็นรูปแบบดิจิทัล (Digital Money) มากขึ้น ซึ่ง Token X พร้อมจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เข้าใจว่า Tokenization คืออะไร? Digital Token เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ?” นางสาวจิตตินันท์ กล่าวปิดท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 65)
Tags: Crypto Insight, Cryptocurrency, SCOOP, Token X, คริปโทเคอร์เรนซี, จิตตินันท์ ชาติสีหราช, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ปตท., พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล, พิชัยรัตน์ จิรานันรัตน์, สินทรัพย์ดิจิทัล, โทเคน เอกซ์