นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีปมหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า จากการติดตามการประชุมของสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) วานนี้ว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม.จะเสนอให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่าไร และจะแก้ปัญหาหนี้สินอย่างไร
การประชุมของสภา กทม. มีผลสรุปดังนี้
1. ผู้ว่าฯ กทม. ขอความเห็นจากสภา กทม. 2 ญัตติ คือ
– อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต โดยเสนอให้เก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุด (รวมทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย) เท่ากับ 74 บาท หรือเก็บตามระยะทางตามสูตร 14+2X (ค่าแรกเข้า 14 บาท ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาทต่อสถานี แต่ค่าโดยสารรวมทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไม่เกิน 59 บาท)
– การแก้ปัญหาหนี้สิน โดยเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาของส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนได้ ผู้ว่าฯ กทม. จะหาเอกชนมาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถให้เงินสนับสนุนได้ ผู้ว่าฯ กทม. ก็ขอโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด (ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย) ให้กับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภา กทม. ส่วนใหญ่เห็นว่า ญัตติดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของสภา กทม. จึงได้เสนอให้ถอนญัตติออกไป
2. รมว.มหาดไทย ขอความเห็นจาก ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และสภา กทม. ชุดใหม่ ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 65 ผู้ว่าฯ กทม.คนเดิม ได้มีหนังสือถึงรมว.มหาดไทย ขอความเห็นชอบให้ขยายสัมปทานให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม. มีอยู่กับ BTSC และ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้งกำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท)
3. ผู้ว่าฯ กทม. จะเสนอความเห็นอะไรให้ รมว.มหาดไทย เมื่อสภา กทม. โยนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปที่ฝ่ายบริหารของ กทม. ผู้ว่าฯ กทม. ควรพิจารณาทำหนังสือตอบ รมว.มหาดไทย ไปตามแนวทางของผู้ว่าฯ กทม. ดังกล่าวในข้อ 1 ข้างต้น
ทั้งนี้ ตนมีความเห็นต่อแนวทางของผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้
– อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ว่าฯ กทม. จะเก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดเท่ากับ 74 บาท หรือจะเก็บตามระยะทาง แต่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาท แต่ต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ว่าจะเก็บ 25-30 บาท
– หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ว่าฯ กทม. จะเปิดประมูลใหม่หาเอกชนมารับสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ซึ่งมองว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเอกชนรายใดสนใจมารับสัมปทานเพราะจะขาดทุน แต่หากจะเปิดประมูลใหม่ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายหลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะยังติดสัญญาจ้าง BTSC ให้เดินรถจนถึงปี 2585
– หากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ว่าฯ กทม. จะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาล ตนเห็นว่าแนวทางนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา แต่เป็นการโยนปัญหาให้พ้นตัว ซึ่งถ้ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอนี้ ก็น่าจะรับมาตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. แล้ว และจะไม่ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ ที่สำคัญคือการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาล จะเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของบุคลากร กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในสำนักการจราจร และขนส่ง กทม. ที่ได้พยายามปลุกปั้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนสำเร็จเป็นรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย
4. ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากผู้ว่าฯ กทม. ตั้งธงไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าจะไม่ขยายสัมปทานให้ BTSC จึงทำให้ต้องเดินมาถึงทางตัน อย่างไรก็ดี มีทางเดียวที่จะผ่าทางตันได้ คือ เปิดใจให้กว้าง ดูข้อดีข้อเสียในการขยายสัมปทานให้ BTSC ถ้าเห็นว่ามีข้อดีมากกว่าก็ตัดสินใจขยายสัมปทานให้ BTSC ส่วนทางเลือกอื่นไม่มี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 65)
Tags: BTSC, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, รฟม., ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, สามารถ ราชพลสิทธิ์