“เทเลนอร์” เรียกร้อง กสทช. ชี้แจงเงื่อนไขควบรวม TRUE-DTAC

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทเทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทำการชี้แจงเงื่อนไขที่กสทช. ระบุไว้ในมติรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ DTAC

นายซิกเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์ กล่าวว่า บริษัทต้องการได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะตามมา

ต่อข้อถามที่ว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ นายเบรกเก้กล่าวว่า “เทเลนอร์กำลังทำการหารือกับกสทช.เพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเงื่อนไขเหล่านี้หมายความว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ โดยเรื่องหนึ่งคือโครงสร้างอัตราค่าบริการที่กสทช.ต้องการจากเรา รวมทั้งในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการ กสทช.จะเข้าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังคงไม่มีความชัดเจน”

ทั้งนี้ หลังจากมีมติรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ที่ประชุมกสทช.ได้พิจารณาข้อกังวล (Point of concern) จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังนี้

ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้

1. การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย

ก. อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (WEIGHTED AVERAGE) ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม)

ข. ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก

ค. ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ

ง. ให้ผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต

2. การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)

ก. ให้นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2564 ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่งสำนักงาน กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนรวมเฉลี่ย ซึ่งเป็นราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน (Average Cost Pricing) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง

ข. จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้ผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษา

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับผู้ยื่นคำร้องขอรวมธุรกิจ เพื่อสอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ (ก) ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องของแต่ละรายบริการ เช่น บริการเสียง บริการข้อมูล บริการส่งข้อความ เป็นต้น เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ค. จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเช่นเดียวกับข้อ (ข) เพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ (ก) ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ เช่น บริการเสียง บริการข้อมูล บริการส่งข้อความ เป็นต้น ปีละ 4 ครั้ง (รายไตรมาส) โดยต้องจัดให้มีที่ปรึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือตลอดระยะเวลาอายุใบอนุญาตสิ้นสุดลงในกรณีที่อายุใบอนุญาตน้อยกว่า 10 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้ผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษา ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับผู้ยื่นคำร้องขอรวมธุรกิจ

ง. จะต้องมีการกำหนดและแสดงอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แยกตามรายบริการ (Unbundle) เช่น บริการเสียง บริการข้อมูล บริการส่งข้อความ เป็นต้น หรือการส่งเสริม การขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) เพื่อให้ผู้ใช้บริการปลายทางได้รับทราบก่อน โดยให้กำหนดอัตราค่าบริการตามต้นทุนเฉลี่ยรายบริการ (Average Cost Pricing) โดยคิดราคาตามที่มีการใช้งานจริง โดยจะต้องไม่มีการกำหนดการซื้อบริการขั้นต่ำไว้ ทั้งนี้ การกำหนดอัตราตามต้นทุนเฉลี่ยรายบริการ (Average Cost Pricing) ให้นำไปใช้กับกรณีค่าบริการส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการรายการส่งเสริมการขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) และการส่งเสริมการขายแบบรวมรายบริการ (Bundle Package) ด้วย

จ. จะต้องจัดช่องทางการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ครอบคลุมและง่ายต่อการเลือกซื้อ เปลี่ยนแปลง (เพิ่ม ลด) การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการปลายทาง โดยปราศจากข้อจำกัด ทั้งนี้ ต้องแสดงรายละเอียดของบริการ อัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ หรืออัตราค่าบริการแบบส่งเสริมการขาย ตลอดจนวิธีการ เงื่อนไขการเลือกรับบริการไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นปัจจุบัน

3. การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท TUC (หรือ TRUE) และบริษัท DTN (หรือ DTAC) ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี

4. สัญญาการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว

5. การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป

ข้อกังวล อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด – ขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้

1. เงื่อนไขบังคับก่อน (Ex Ante)

ก. ให้ผู้ยื่นคำร้องขอรวมธุรกิจจัดทำแผนการจัดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) โดยจะต้องมีรายละเอียด ดังนี้

(1) จัดให้มีหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการ MVNO โดยมีการแยกระบบการบริหารจัดการ ระบบบัญชี ออกจากหน่วยธุรกิจหลักที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้

(2) จัดให้มีระบบการให้บริการโครงข่ายที่พร้อมรองรับการเข้าใช้บริการโครงข่ายสำหรับผู้ให้บริการ MVNO ภายหลังจากมีการรวมธุรกิจโดยทันที

อนึ่ง การดำเนินการตาม (1) และ (2) จะต้องมีความพร้อมในการดำเนินงานทันทีเมื่อเกิดการรวมธุรกิจ

ข. ให้ผู้ยื่นร้องขอรวมธุรกิจ ผู้รับใบอนุญาตจากการรวมธุรกิจ ตลอดจนบริษัทที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุม จัดให้มีแผนการแยกการบริหารจัดการ ระบบบัญชี สำหรับให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริการโทรศัพท์เคลื่อน โดยให้เสนอแผนดังกล่าวต่อ กสทช. ก่อนการรวมธุรกิจ

2. มาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post)

ก. ผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจตลอดจนบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้การควบคุม ต้องดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นได้เช่นเดียวกับตนเอง

ข. ผู้รับใบอนุญาต MVNO จะต้องได้รับสิทธิในการใช้บริการจากคลื่นความถี่ในทุกย่านของผู้รวมธุรกิจที่มีสิทธิในการใช้งานทั้งสิทธิทางตรงและสิทธิที่ได้รับช่วงมาภายใต้มาตรฐานเทคโนโลยีเดียวกัน

ค. การเข้าใช้บริการโครงข่ายสำหรับผู้รับใบอนุญาต MVNO จะต้องได้รับการประกันสิทธิ ในการได้รับบริการภายใต้คุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามมาตรฐานการให้บริการที่ กสทช. กำหนด

ง. จะต้องไม่ปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต MVNO อันเกิดมาจากเหตุผลความไม่เพียงพอของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

จ. จะต้องพร้อมให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO ที่ขอเข้าใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถเริ่มให้บริการได้ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ขอเข้าใช้บริการ

ฉ. บริษัท TUC และ DTN จะต้องจัดให้มีบริการโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมีขนาดความจุ (Capacity) อย่างน้อยร้อยละ ๒๐ ของโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดของตนเองให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกันกับบริษัท TUC และ DTN เมื่อมีคำขอรับบริการดังกล่าว

ช. อัตราค่าตอบแทนการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้ให้บริการ MVNO ให้ไม่เกินอัตราค่าบริการที่เสนอขายเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการตามสิทธิการใช้งานของทุกรายการส่งเสริมการขายหักด้วยอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของอัตราค่าบริการที่เสนอขายเฉลี่ยต่อหน่วยของราคาขายปลีกสำหรับบริการแบบส่งเสริมการขาย (Bundle Package) หรือราคาเฉลี่ยขายต่อหน่วยสำหรับรายบริการ (Unbundle) ที่มีการใช้งานจริง (เช่น เสียง ข้อมูล บริการข้อความ เป็นต้น) (retail – 30%) ที่ผู้รับใบอนุญาตหรือบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของนิติบุคคลที่เกิดขึ้นจากการยื่นคำร้องขอรวมธุรกิจในครั้งนี้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการปลายทาง

ซ. ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องไม่กำหนดเพดานขั้นต่ำของการเข้าซื้อรายบริการ เช่น เสียง ข้อมูล บริการข้อความ เป็นต้น ของผู้รับใบอนุญาต MVNO ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าบริการให้เป็นไปตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง

ข้อกังวลคุณภาพการให้บริการ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้

1.บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงคุณภาพในการให้บริการดังนี้

– คุณภาพของสัญญาณในการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องไม่ลดคงจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (cell sites) ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม และจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด

– คุณภาพในการให้บริการลูกค้า บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

2.ความครอบคลุมของโครงข่าย บริษัท TUC และ/หรือบริษัท DTN จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 3 ปี และร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 5 ปีนับจากวันที่รวมธุรกิจ

ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่/การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้

1. การถือครองคลื่นความถี่ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับใช้งานคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด (การใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา 41 วรรคสี่ มาตรา 44/1 และมาตรา 44/3 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

2. การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด

เศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital divide) มี

1.ความครอบคลุมของโครงข่าย บริษัท TUC และ/หรือบริษัท DTN จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 3 ปี และร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 5 ปีนับจากวันที่รวมธุรกิจ

2.จัดให้มีรายการส่งเสริมการขายในราคาต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างทั่วถึง

3.เสนอแผนการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมภายใน 60 วันหลังจากได้รับแจ้งเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ และเริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช.ยังเห็นชอบกำหนดกลไกในการติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ โดยให้การรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. ทุก 6 เดือน ในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี

และหาก ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนว่า มีการกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กิจการโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ กสทช. อาจระงับ ยกเลิก เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำประเด็นไปหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึษากฎหมายของ กสทช. รวม ๓ ประเด็น ได้แก่ เรื่องการเห็นชอบกลไกการขายหุ้นออกไปจนไม่มีอำนาจในการควบคุมเชิงนโยบาย (Divestiture) เรื่องการรวมธุรกิจของบริษัท TUC และบริษัท DTN ในอนาคต และเรื่องร้องเรียนคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ (บล.ฟินันซ่า)

ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. และผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะตามที่มีมติ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top