นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมฯ คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) ครั้งที่ 5/2565 โดยชริมพ์บอร์ดได้ร่วมกันพิจารณาสถานการณ์ราคากุ้งทะเลในช่วงที่ผ่านมาว่า มีสาเหตุมาจากทั้งปัญหาอุทกภัย การปิดตลาดรับซื้อกุ้งในช่วงวันหยุด ตลอดจนสภาวะเงินเฟ้อของประเทศผู้รับซื้อกุ้งทะเลรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้จะอ่อนตัวลง แต่ด้วยสภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพของประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้ากุ้งในตลาดต่างประเทศจึงยังคงทรงตัว ผู้ส่งออกไทยมีคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ราคากุ้งภายในประเทศบางช่วงตกลงมา แต่ราคายังคงไม่ต่ำกว่าที่ชริมพ์บอร์ดได้เคยประกาศไว้ และราคากุ้งเฉลี่ยยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 64 ที่ผ่านมา โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูป ยังคงประกันราคารับซื้อดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี 65 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคากุ้งภายในประเทศ
นอกจากนี้ ชริมพ์บอร์ดได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้ง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดจัดทำราคากุ้งขาวแวนนาไม ณ ปากบ่อ เป็นประจำทุกวัน และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบ เพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อผลผลิตกุ้งของแต่ละพื้นที่
พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรวางแผนการเลี้ยงกุ้งให้ตรงตามความต้องการของตลาดในพื้นที่ และซื้อขายกุ้งผ่านระบบ APD ของกรมประมง เพื่อให้ผลผลิตมีตลาดรองรับที่แน่นอน และได้ราคาดี เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ตลาดต้องการ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
นายประพันธ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ชริมพ์บอร์ดยังได้เตรียมการส่งเสริมการส่งออกกุ้งกุลาดำไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้สามารถผลิตกุ้งได้ตรงตามความต้องการของคู่ค้า เมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้งหลังประสบปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำและผู้ส่งออก ร่วมกันวางแผนการผลิตและหากลยุทธ์ฟื้นการส่งออกกุ้งกุลาดำไปยังประเทศจีน ซึ่งหากสามารถทำตลาดจีนได้ ผลผลิตกุ้งกุลาดำที่เพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยให้ไปสู่เป้าหมายได้
นอกจากนี้ เพื่อให้ทราบสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลที่แท้จริง สำหรับใช้ในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทย จึงขอให้เกษตรกรเข้าใช้งานระบบ APD โดยกรมประมงจะอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือกำกับการซื้อขายกุ้ง ซึ่งเกษตรกรสามารถออกหนังสือกำกับฯ ได้ด้วยตนเองทุกเวลาตามต้องการผ่านช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ ห้องเย็นหรือโรงงานแปรรูปยังให้ราคาดี เนื่องจากวัตถุดิบสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาได้ตามความต้องการของคู่ค้า กรมประมงพร้อมส่งเสริมการเข้าใช้งานระบบ APD ตลอดจนความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรไทยพร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกในอนาคต ที่มุ่งสู่การทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 65)
Tags: Shrimp Board, กรมประมง, กุ้ง, ชริมพ์บอร์ด, ประพันธ์ ลีปายะคุณ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย