จีนติดโผอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐเป็นครั้งแรก

เว็บไซต์ข่าวมาร์เก็ตวอทช์รายงานว่า รายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 2,000 แห่งจากมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกโดยนิตยสารยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต (U.S. News & World Report) พบว่า มีมหาวิทยาลัยของจีนถึง 338 แห่งติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของสหรัฐจำนวน 280 แห่ง โดยนับเป็นครั้งแรกที่จำนวนมหาวิทยาลัยของจีนติดอันดับดังกล่าวแซงหน้ามหาวิทยาลัยของสหรัฐ

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2565-2566 (The 2022-2023 Best Global Universities rankings) ที่เปิดเผยในวันอังคาร (25 ต.ค.) แสดงให้เห็นว่า จีนมีจำนวนมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกมากกว่าสหรัฐเป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยของจีนและสหรัฐติดอันดับจำนวนมากที่สุด ตามด้วยญี่ปุ่น (105 แห่ง), สหราชอาณาจักร (92 แห่ง) และอินเดีย (81 แห่ง)

การจัดอันดับดังกล่าวนั้นเริ่มขึ้นในปี 2557 เนื่องจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากขึ้นเริ่มแข่งขันกันในการแย่งชิงนักศึกษา ตลอดจนการลงทุนด้านคณาจารย์และการวิจัยด้วย โดยการจัดอันดับจะวัดจากปัจจัยจำนวนมาก รวมถึงชื่อเสียงด้านงานวิจัย การตีพิมพ์งานวิจัย การจัดประชุม และการถูกนำไปอ้างถึง แต่จะไม่รวมผลการเรียนของนักศึกษาและโปรแกรมการเรียนรายบุคคล

ผลการจัดอันดับแสดงให้เห็นว่า แม้จีนจะมีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากกว่าสหรัฐ 58 แห่ง แต่มหาวิทยาลัยของสหรัฐส่วนใหญ่ยังคงติดอันดับบน รวมถึงติด 10 อันดับแรกได้ถึง 8 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (อันดับ 1), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (อันดับ 2), มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (อันดับ 3), มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ (อันดับ 4), มหาวิทยาลัยวอชิงตัน-ซีแอตเทิล(อันดับ 6), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (อันดับ 7), สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (อันดับ 9) และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (อันดับ 10) โดยใน 10 อันดับแรกมีมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรติดอันดับ 2 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (อันดับ 5) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (อันดับ 8)

ในการจัดอันดับดังกล่าวนั้นได้เพิ่ม 4 สาขาวิชาใหม่ในการพิจารณาได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การศึกษาและการวิจัยทางการศึกษา, อุตุนิยมวิทยาและบรรยากาศศาสตร์ และทรัพยากรน้ำ โดยนายโรเบิร์ต มอร์ส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ข้อมูลของยูเอส นิวส์ เปิดเผยกับมาร์เก็ตวอทช์ว่า “สาขาวิชาดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในหลายระดับ”

ทั้งนี้ AI เป็นหนึ่งในไม่กี่สาขาที่ทั้งสหรัฐและจีนถือว่ามีความสำคัญทางด้านกลยุทธ์ระดับประเทศ โดยคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ลงนามในร่างกฎหมายการริเริ่ม AI แห่งชาติ (National AI Initiative Act) ให้เป็นกฎหมายในปี 2564 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สหรัฐขึ้นเป็นผู้นำในด้านดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวในการประชุมสุดยอดเทคโนโลยีใหม่ระดับโลกว่า “มหาอำนาจของโลกกำลังแข่งกันพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และคอมพิวเตอร์ควอนตัม ที่สามารถกำหนดทุกอย่างในชีวิตของเรา ตั้งแต่เราจะหาพลังงานจากไหน เราจะทำงานของเราได้อย่างไร ไปจนถึงจะต่อสู้ในสงครามอย่างไร”

นายบลิงเกนกล่าวว่า “เราต้องการให้สหรัฐยังคงความได้เปรียบในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะมีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจของเราในศตวรรษที่ 21”

ใน 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยด้าน AI นั้น มี 5 สถาบันมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงมหาวิทยาลัยชิงหวาซึ่งครองอันดับ 1 ส่วนมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย AI ที่ดีที่สุดของสหรัฐตกเป็นของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12

นอกจากนี้ จีนยังนำหน้าสหรัฐในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ รวมถึง นาโนศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเคมีเชิงฟิสิกส์

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า มีนักศึกษาจากจีนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐน้อยลงนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. 2565 มีชาวจีน 52,034 รายได้รับวีซ่า F-1 ลดลงจาก 95,518 รายในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยวีซ่า F-1 จะออกให้กับนักศึกษาต่างชาติเพื่อศึกษาในระดับปริญญาหรือประกาศนียบัตร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top