น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกของประเทศไทย ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.- 4 พ.ย.65 สืบเนื่องจากกฎอนามัยระหว่างประเทศมีสถานะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีการปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยการประเมินจะมีขึ้นทุก 5 ปี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประเมินตามตามคู่มือของกฎอนามัยระหว่างประเทศครอบคลุมงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมต่างๆ ในหลายกระทรวงรวมถึงภาคเอกชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการเข้ารับการตรวจประเมิน จึงต้องเสนอให้ ครม.รับทราบเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ สามารถประสานผู้แทนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันเตรียมความพร้อมในการเสนอผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ต่อผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกรอบการติดตามและประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยรัฐภาคีจะต้องจัดทำรายงานการประเมินสมรรถนะประจำปี ส่งให้องค์การอนามัยโลกเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์เสนอในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปีนั้นๆ โดยผลประเมินจะถูกใช้เป็นตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่สะท้อนมีศักยภาพการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของรัฐภาคี
สำหรับการประเมินตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศในครั้งนี้จะดำเนินการประเมินใน 4 กลุ่ม รวม 19 ด้าน ประกอบด้วย 1)กลุ่มการป้องกัน 8 ด้าน 2)กลุ่มการตรวจจับ 3 ด้าน 3)กลุ่มการตอบโต้ 5 ด้าน และ 4)กลุ่มเฉพาะภาวะอันตราย 3 ด้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 65)
Tags: กฎอนามัยระหว่างประเทศ, กระทรวงสาธารณสุข, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, องค์การอนามัยโลก, ไตรศุลี ไตรสรณกุล