UBA เตรียมขาย IPO 170 ล้านหุ้น-เทรด mai ก่อนสิ้นปีหลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ (UBA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ UBA เป็นที่เรียบร้อย

UBA ได้ยื่นเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 170,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 28.33% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ กลุ่มบริการ

บริษัทประกอบธุรกิจในการให้บริการจัดการน้ำ เดินระบบ และบำรุงรักษาแบบครบวงจร (Integrated Operation and Maintenance หรือ IOM) พร้อมทั้งการบริการให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า โดยครอบคลุมการให้บริการใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ งานระบบบำบัดน้ำเสีย อุโมงค์ระบายน้ำ และระบบน้ำประปา

อีกทั้งปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ให้บริการจัดการน้ำเสียเอกชนรายใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร (อ้างอิงตามรายงานประจำปี สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ ปี 2563) และเป็นบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในงานบริหารจัดการเดินระบบ และบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการโครงการให้กับกรุงเทพมหานครมาต่อเนื่องแล้ว จำนวน 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 4 พันล้านบาท และปัจจุบันบริษัทมีงานอยู่ระหว่างการดำเนินการ (Backlog) ณ ไตรมาส 2/65 มูลค่ารวมกว่า 1.61 พันล้านบาท

นายสมชาติ สังหิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UBA เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการในอนาคต รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน อีกทั้งการระดมทุนในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของ UBA อีกด้วย

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการจัดการเดินระบบและบำรุงรักษาอย่างครบวงจรที่มีลูกค้าเป็นกรุงเทพมหานคร บริษัทยังมีโอกาสขยายงานเพิ่มเติมสู่โครงการอุโมงค์ระบายน้ำและโครงการระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องถึงปี 80

สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศ (Information System) วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ซื้อและปรับปรุงเครื่องจักร ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในอนาคต

ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในปี 62-64 มีรายได้รวมจำนวน 432.40 ล้านบาท 532.69 ล้านบาท 533.59 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิจำนวน 18.30 ล้านบาท 43.43 ล้านบาท 52.35 ล้านบาท คิดเป็นเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.23%, 8.15%, 9.81% และงวด 6 เดือนแรกปี 65 บริษัทมีรายได้รวม 327.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 30.83 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 9.42%

ปัจจัยที่สนับสนุนให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยบริษัทได้รับงานสัญญาของกรุงเทพมหานครในงานโครงการบริหารจัดการน้ำ เดินระบบและบำรุงรักษาแบบครบวงจร (IOM) ในโครงการโรงบำบัดน้ำเสีย 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการโรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม-ทุ่งครุ ระยะที่ 4 ในปี 2563 2)

โครงการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการ โรงควบคุมคุณภาพดินแดง ระยะที่ 4 ในปี 64 และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำ 1 โครงการ ในปี 64 ได้แก่ โครงการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 3 ประกอบกับบริษัทได้มุ่งเน้นขยายงานใหม่ไปยังกลุ่มลูกค้าอื่นๆ รวมถึงกลุ่มลูกค้าเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายและลดการพึ่งพิงลูกค้ารายใดรายหนึ่ง บริษัทยังมุ่งมั่นขยายงานด้านการให้บริการงานด้านวิศวกรรมและจัดหาอุปกรณ์ เพื่อให้บริษัทฯ มีการบริการที่ครบวงจร และเพิ่มโอกาสขยายงานด้าน IOM ของบริษัทมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีกำไรสุทธิสูงขึ้น เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นประกอบกับบริษัทสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top