นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/65 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.2% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 11.5% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น 2 ครั้งในเดือนสิงหาคม และกันยายน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม โดยมี Cost to income ratio เท่ากับ 45.31% ลดลงจาก 46.21% ในไตรมาส 3/64 ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,667 ล้านบาท ลดลง 30.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ พิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ประกอบกับติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) 3.32% ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 64 ที่ 3.50% และทั้งยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ 176.4% เทียบกับ 168.8% เมื่อสิ้นปี 64 ภายใต้ทิศทางเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่สูง
เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้น 1.1% สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 7.2% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น ทั้งนี้ ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม โดยมี Cost to income ratio เท่ากับ 45.31% ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ยึดหลักระมัดระวัง โดยในระดับเดียวกับไตรมาสที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 65 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 25,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 5.7% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัวจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างสมดุลโดยมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ประกอบกับการบริหารต้นทุนทางการเงินและการบริหารค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.06% ลดลงจาก 44.28% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลง 30.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับที่สูง
ณ 30 กันยายน 2565 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง เท่ากับ ร้อยละ 16.47 และร้อยละ 20.63 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยที่ในเดือนเม.ย. 65 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาทเพื่อทดแทนตราสารด้อยสิทธิที่จะไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาท ในเดือนพ.ย. 65 ซึ่งเป็นการไถ่ถอนก่อนวันครบกำหนดเพื่อช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์มทั้ง Krungthai NEXT Krungthai Connext เป๋าตัง และถุงเงิน โดยธนาคารต่อยอดบริการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ทั้งด้านบริการภาครัฐ สุขภาพ การออมและการลงทุน ช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเสมอภาค ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารมากกว่า 40 ล้านคน ทั้งในภาครายบุคคล และภาคธุรกิจ โดยมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สะท้อนถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Open Banking ของธนาคาร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ พร้อมยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล(ESG) โดยนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) มาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงาน ภายใต้พันธกิจ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน
นายผยง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง ในรูปแบบ “The New K-shaped Economy” จากความท้าทายเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ รวมถึงอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งพิจารณาการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ในบางธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและกลุ่มเปราะบาง
ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด รักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ มีความห่วงใยและตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย SMEs และกลุ่มเปราะบาง จึงใช้แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับนโยบายของธปท. และปรับขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่และวงเงินเบิกเกินบัญชี ในอัตราร้อยละ 0.25 ซึ่งปรับขึ้นน้อยกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นรวมร้อยละ 0.50 เพื่อเคียงข้างลูกค้าและสามารถบริหารจัดการสภาพคล่อง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำร้อยละ 0.15-0.825 ต่อปี เพื่อดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมส่งเสริมการออมที่มีความมั่นคงในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 65)
Tags: KTB, ค่าธรรมเนียม, ดอกเบี้ย, ธนาคารกรุงไทย, ผยง ศรีวณิช, สินเชื่อธุรกิจ