กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานทั่วประเทศ ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด พุ่งขึ้น 3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 31 ปี เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้างตั้งแต่ต้นทุนพลังงานไปจนถึงอาหาร โดยข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผชิญกับความยากลำบากในการเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน
ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญของญี่ปุ่น ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ที่ระดับ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่า BOJ จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการพยุงเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก และทำให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งขึ้น
BOJ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนพ.ย.และธ.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย., ก.ค. และก.ย. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.50-4.75% ในสิ้นปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 65)
Tags: BOJ, CPI, lifestyle, ค่าเงินเยน, ดัชนีราคาผู้บริโภค, นโยบายการเงิน, เงินเฟ้อ, เงินเฟ้อญี่ปุ่น, เศรษฐกิจญี่ปุ่น