นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ของปีนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ดีของเคทีซี เนื่องจากพอร์ตบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเติบโตได้สูงกว่าประมาณการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 สามารถขยายตัวอยู่ที่ 16.6% และ 7.9% ตามลำดับ
โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สูงขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจน ยอดใช้จ่าย 9 เดือนขยายตัว 22.7% อยู่ที่ 169,033 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 65 ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีจะเติบโตมากกว่า 15% แม้ว่าจะยังคงเป้าหมายไว้ที่ 10%
สำหรับธุรกิจสินเชื่อบุคคล เชื่อว่าสิ้นปีจะสามารถเติบโตได้ 7% ตามเป้าหมาย ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อ เคทีซี พี่เบิ้ม และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง มีกระแสตอบรับที่ดี แม้ตัวเลขจะยังไม่เป็นไปตามที่ประเมิน โดยจะเร่งประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าและเพิ่มอัตราการขยายตัว โดยคาดว่าสิ้นปี 65 มูลค่าพอร์ตลูกหนี้จะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.65) เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 งบการเงินรวม มีกำไรสุทธิ 9 เดือน 5,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% และไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.6%
ขณะที่งบการเงินเฉพาะกิจการ มีกำไรสุทธิ 9 เดือน 5,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.0% และไตรมาส 3/65 เท่ากับ 1,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.7%
ฐานสมาชิกรวม 3,269,027 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 97,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) 2.0% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,534,226 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 63,558 ล้านบาท NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2%
พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 734,801 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 31,524 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.0% และพอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 1,934 ล้านบาท ยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) เท่ากับ 804 ล้านบาท NPL ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าอยู่ที่ 11.1%
“ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลระดับอุตสาหกรรมกลับมาเติบโตดี จากยอดลูกหนี้บัตรเครดิตและปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมที่เพิ่มขึ้น โดยเคทีซีมีสัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม 13.9% สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรม 3.9% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 22.3% (อุตสาหกรรมโต 24.1%) และมีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ 11.8%”
เคทีซียังคงให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ โดยจะบริหารการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญให้เป็นไปตามลักษณะของพอร์ตที่ควรจะเป็น เมื่อมีการขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้ในไตรมาส 3/65 มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นขยายตัว 22.9% จากไตรมาส 2/65 แต่ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64
สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 3/65 เท่ากับ 5,887 ล้านบาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.7% จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น 8.5% และ 30.6% ตามลำดับ และหนี้สูญได้รับคืนจำนวน 857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.0% ในขณะที่รายได้รวม 9 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 16,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6%
ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 3/65 เท่ากับ 3,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น 11.3% ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลง 1.2% และ 0.5% ตามลำดับ สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 9 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 10,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2%
ทั้งนี้ เคทีซีมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสำหรับ 9 เดือนเท่ากับ 12.4% และไตรมาส 3/65 มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 13.1% เงินกู้ยืมทั้งสิ้น 57,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9% เป็นโครงสร้างแหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยาวในสัดส่วน 28% ต่อ 72% โดยมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 23,899 ล้านบาท ต้นทุนการเงิน 2.4% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.1 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
นายระเฑียร กล่าวอีกว่า สำหรับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ราวต้นเดือนมกราคม 2566 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อสำหรับรถยนต์ใหม่ ไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ไม่เกินอัตรา 23% ต่อปี ซึ่งเป็นการควบคุมอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเช่าซื้อให้คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate) แบบลดต้นลดดอกนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเคทีซี เนื่องจากธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เกือบทั้งหมด เป็นการปล่อยสินเชื่อในลักษณะของการจำนำทะเบียนรถ
ทั้งนี้ สินเชื่อตามสัญญาเช่าในส่วนของกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง (KTBL) มีการให้สินเชื่อเช่าซื้อรายย่อยอยู่บ้างแต่มีมูลค่าน้อยมาก จึงมีผลกระทบเพียงจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม ด้วยผลของประกาศดังกล่าว พอร์ตเช่าซื้อในส่วนนี้คงจะเติบโตได้ช้าลง ในขณะที่ KTBL จะคงการปล่อยสินเชื่อในลักษณะของ Commercial Loan มากขึ้น ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ เคทีซียังคงดำเนินการเพื่อแบ่งเบาภาระสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 บริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะตามประกาศ ธปท. ฝนส.2 ว.802/2564 คงเหลือจำนวน 2,136 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.26% ของพอร์ตลูกหนี้รวม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 65)
Tags: KTC, บัตรกรุงไทย, บัตรเครดิต, ระเฑียร ศรีมงคล, สินเชื่อบุคคล, หุ้นไทย