สภาองค์กรผู้บริโภค ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษาที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะที่ได้ประชุมนัดพิเศษในวันนี้เพื่อพิจารณากรณีที่ บมจ.ทรู คอร์เปอร์เรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น (DTAC) มีเจตนาจะทำการควบรวมบริษัท โดยเรียกร้องให้ กสทช.ยืนหยัดข้างผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่ดูแลกำกับกิจการโทรคมนาคมจะต้องใช้อำนาจพิจารณายับยั้งการควบรวมครั้งนี้
เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในกิจการโทรคมนาคม ที่หลังจากการควบรวม จะมีการเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 10% ในบริษัทลูก คือ บริษัท ทรูมูฟเอช จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันขัดต่อตามบัญญัติมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561
กลุ่มนักวิชาการฯ มีความกังวลต่อผลกระทบที่จะมีต่อสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษาหากคณะกรรมการอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการทั้งสอง เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้จะทำให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขันในตลาดค่ายมือถือและตลาดอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงแหล่งความรู้จากทุกมุมโลกที่จะทำให้นักศึกษาและประชาชนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้วยตนเอง หรือจากสถาบันการศึกษาระดับโลก
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ กสทช.ยึดมั่นต่อหน้าที่ที่มีต่อประชาชนในการรักษาผลประโยชน์สูงสุด ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม เพราะหากวิเคราะห์ตามมาตรา 21 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 จะพบว่าได้มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ มีความชัดเจนว่าธุรกิจใหม่ของสองบริษัทข้างต้นจะทำให้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของบริษัทที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตได้ถึงสองบริษัท คือ บริษัท ทรูมูฟเอช และ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต
การควบรวมนี้จะทำให้บริษัทใหม่มีส่วนแบ่งในตลาดเกินกว่า 50% ที่ทำให้กิจการมีอำนาจเหนือตลาดโดยทันที อีกทั้งทำให้คู่แข่งในตลาดสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตลดลงจากสามรายใหญ่เหลือสองรายใหญ่ คือ บริษัทใหม่หลังการควบรวม และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 97%
จากการศึกษาด้านวิชาการที่ได้ปรากฏในสื่อต่างๆ ในช่วงที่มีข่าวการควบรวม ได้ชี้ชัดว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ที่แสดงค่า HHI (Herfindahl Index เรียกย่อว่า HHI) ที่เป็นดัชนีวัดการกระจุกตัวของตลาด ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2500 แต่หากเกิดการควบรวม ดัชนีนี้จะทะยานสูงถึง 5007 ที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อตลาดนี้ที่นำทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชนมาบริหาร
เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ และแวดวงวิชาการแล้วว่า ตลาดใดที่เป็นตลาดการผูกขาด หรือลดการแข่งขันจะเป็นตลาดที่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปหมดอำนาจในการเลือกซื้อบริการ และหมดอำนาจต่อรองด้านราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดที่หดตัวเหลือคู่แข่งเพียงสองรายใหญ่ จะมีแนวโน้มที่คู่แข่งทั้งสองลดการแข่งขันลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่ความร่วมมือเพื่อสร้างกำไรสูงสุด โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม จะสูงขึ้นจาก 2.03% ในระดับของการแข่งขันหลังควบรวม และจะทะยานถึง 244.5% หากการแข่งขันเปลี่ยนไปเป็นความร่วมมือของธุรกิจทั้งสอง
กลุ่มนักวิชาการจึงร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ต่อคณะกรรมการ กสทช. ให้พิจารณาไม่อนุญาตการควบรวมเนื่องจากจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากค่าบริการสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ โอกาสในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันหรือพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับโลกในทุกมิติ ท้ายที่สุด จะมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่หมดโอกาสเข้าบริการด้านสัญญาณคลื่นความถี่จากสาเหตุการแข่งขันที่ผูกขาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 65)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., ทรู คอร์ปอร์เรชั่น, สภาองค์กรผู้บริโภค, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น