แหล่งข่าววงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ประเมินว่าในวันพรุ่งนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็สเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) โดยให้น้ำหนัก 80-90% มีโอกาสลงมติ โดยเชื่อว่าจะไม่มีการเลื่อนการพิจารณาอีก แม้ว่ารายงานผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศจะยังเหลือฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายกำหนดจะส่งมาในวันที่ 14 พ.ย.นี้ เพราะคณะกรรมการ กสทช.ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณาแล้ว
ในการพิจารณาข้อแรกจะมีการพิจารณาถึงอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ 1) ไม่มีอำนาจการพิจารณา ได้แต่รับทราบการควบรวมกิจการ ตามประกาศ กสทช.ปี 61 หรือ 2) มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมาย ตามประกาศ กสทช.ปี 61 ข้อ 9 หรือตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช.ปี 49 ที่สามารถมีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมได้
หากไม่มีอำนาจอนุมัติหรือยับยั้ง และทำได้เพียงรับทราบ ก็คาดว่า กสทช.จะกำหนดเงื่อนไขมาตรการให้ภาคเอกชนต้องปฏิบัติตามเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค
แต่หากมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต ก็ประเมินว่าบอร์ด กสทช.จะตัดสินใจใช้อำนาจอนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่มีการกำหนดเงื่อนไขด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้คาดว่าจะมีกรรมการ กสทช.2 รายลงมติว่ามีอำนาจเพียงรับทราบ และมีกรรมการ 2 รายลงมติว่ามีอำนาจตามกฎหมายที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ส่วนอีก 1 รายยังไม่ตัดสินใจ
“ตอนนี้มีโอกาสบอร์ด กสทช.ไฟเขียวอนุญาตและกำหนดเงื่อนไข ประมาณ 60% คือถ้าบอกว่าบอร์ด กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ก็จะโดนข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่หากบอกมีอำนาจแล้วใช้อำนาจยับยั้ง ก็จะโดนฝ่ายเอกชนฟ้องร้อง ดังนั้นมีโอกาสที่จะออกมาว่าบอร์ดมีอำนาจ แต่อนุญาตแบบเงื่อนไข ซึ่งน่าจะปลอดภัยในเชิงคดี” แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการพิจารณาของบอร์ด กสทช.เป็นอย่างไร เชื่อว่าบอร์ดจะถูกฟ้องต่อศาลปกครองแน่นอน เพราะหากบอร์ด กสทช.ไม่อนุญาตการควบรวม ฝ่ายเอกชนจะฟ้องร้อง แต่หากบอร์ดกสทช.อนุญาตการควบรวมก็จะถูกภาคประชาชนฟ้อง แต่ว่าในทางคดีอาญายังไม่แน่ใจว่าจะมีการฟ้องร้องหรือไม่
ส่วนที่อีกฝ่ายปล่อยข่าวว่า บริษัท SCF Associates Ltd ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศที่ กสทช.ว่าจ้างทำรายงานผลกระทบจากการควบรวมกิจการเป็นบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือนั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตรวจสอบประวัติและที่มาของบริษัท SCF Associates Ltd. ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดย คณะกรรมการ กสทช. ให้ทำรายงานด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวม รวมถึงประวัติของทีมนักวิชาการที่เข้ามาร่วมทำรายงานชิ้นดังกล่าว พบว่า บริษัท SCF Associates Ltd. บริหารงานโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านกิจการโทรคมนาคมระดับโลก ซึ่งได้รวบรวมทีมนักวิชาการที่มีชื่อเสียงอีกสามท่านมาร่วมทำรายงาน และรายงานดังกล่าวได้สะท้อนความเป็นจริงของผลกระทบต่อประเทศและสังคม หาก กสทช. อนุญาตให้เกิดการควบรวม
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเห็นว่า บริษัทนี้มีคุณสมบัติด้านวิชาการอย่างครบถ้วนในการทำรายงานวิจัย ชื่อ “รายงานผลกระทบจากการควบรวม” (A Study on the Impact of the Proposed Merger) เพื่อเสนอต่อ กสทช.
ผู้บริหารโครงการนี้ คือ ดร. ไซม่อน ฟอร์จ (Dr. Simon Forge) เป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นอดีตผู้อำนวยการแผนกไอทีสำหรับผู้บริโภคและสินค้าด้านธุรกิจของบริษัท ฮัชชิสัน 3จี (Hutchison 3G UK Ltd) ในช่วงปี 2000-2003 และเป็นผู้จัดทำรายงาน “ผู้นำในประเทศยุโรป สำหรับ 5จี” (European Leadership in 5G) ในปี 2017 อีกทั้งยังเป็นผู้ให้ความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมาธิการด้านอุตสาหกรรม การวิจัย และพลังงาน ของรัฐสภายุโรป (The European Parliament’s Committee on Industry, Research and Energy (ITRE)) อีกด้วย
ทั้งนี้ ดร. ไซม่อน ยังเคยทำงานร่วมกับ กสทช. ในโครงการ แนวโน้มในอนาคตสำหรับการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ในปี 2019 (Future Trends of Internet Regulations (2019)) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาด้านยุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายอินเทอร์เน็ตในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 65)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., ควบรวมกิจการ, ดีแทค, ทรู คอร์ปอเรชั่น, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น