IPOInsight: PCC เปิดสวิตช์ Smart Grid พร้อมลุยสังเวียนตลาดสองแสนล้าน

หุ้นน้องใหม่อีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน นั่นคือ บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) โดยเปิดให้จองซื้อหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 307 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาทต่อหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.00 บาท ระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค.65 ที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อทิศทางการเติบโตแข็งแกร่งในระยะยาว

PCC นับเป็นหุ้นรายแรกที่เน้นระบบส่งและจำหน่าย Smart Grid ที่พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรม ทรัพยากร พลังงานและสาธารณูปโภค

*แกะรอย 3 ธุรกิจหลักกับประสบการณ์กว่า 40 ปี

นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCC เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทเริ่มก่อตั้งจากความร่วมมือของกลุ่มเพื่อนวิศวกรมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ระยะแรกดำเนินธุรกิจเทรดดิ้งอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเน้นการนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าจากต่างประเทศเพื่อมาขายให้กับการไฟฟ้าฯ

ต่อมาได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินธุรกิจผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีระบบ Software Product Lifecycle Management ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัท เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทใดมีระบบดังกล่าว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน มีต้นทุนต่ำ และคุณภาพคงที่

จากนั้นได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาดไม่เกิน 115 Kv และต่อมาขยายไปผลิตตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า, ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประมาณ 230-500 Kv ขณะเดียวกันก็เริ่มทำโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

อีกด้านหนึ่ง PCC ได้เข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมุ่งเน้นโรงไฟฟ้าไบโอแมสด้วยการร่วมทุนกับผู้ที่มีความชำนาญ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล SBP กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ (MW) (COD ปี 61) บริษัทถือหุ้น 76%, โรงไฟฟ้าชีวมวล SKB 9.9 MW (COD ปี 58) บริษัทถือหุ้น 40% และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ NSPC 5 MW ประเทศลาว (COD ปี 61) บริษัทถือหุ้น 38%

พร้อมทั้งก่อตั้งบริษัทเพิ่มเติมอีกขึ้นมาดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า และรับจ้างผลิต (OEM) นอกจากนั้น ยังมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้าน Digital Economy และบริษัทที่ทำเรื่องของไผ่และพืชพลังงาน

นายกิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่ม PCC ได้จัดโครงสร้างใหม่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง และมีบริษัทย่อย 6 บริษัท ซึ่งมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต 3 ธุรกิจ ได้แก่

1) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้างานบริหารโครงการ งานบริการงานบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าทั้งแรงต่ำและแรงสูงขนาดไม่เกิน 115 kv และระบบบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ

2) กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง พร้อมผลิตติดตั้งระบบควบคุมสำหรับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ และผลิตมิเตอร์อัจฉริยะ (Intelligent Grid)

3) กลุ่มธุรกิจลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และผลิตเชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน (Renewable Energy) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจย่อยหลักกว่า 90% แบ่งเป็น ธุรกิจกลุ่มที่ 1 ราว 40% ธุรกิจกลุ่มที่ 2 ราว 44% และธุรกิจกลุ่มที่ 3 ราว 11% ที่เหลือราว 4% จะมาจากบริษัทย่อยอีก 3 บริษัท

*เข้า SET ระดมทุนตอกย้ำผู้นำ Smart Grid ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายกิตติ กล่าวว่า บริษัทมีแผนนำเงินจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการในอนาคตอื่น มูลค่า 350 ล้านบาทภายในปี 65-67, ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน มูลค่า 194 ล้านบาท ภายในปีนี้ และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินมูลค่า 650 ล้านบาทภายในปีนี้

ด้วยประสบการณ์ทำงานมายาวนานราว 40 ปี บริษัทมีความมั่นใจในธุรกิจ Smart Grid Technology Platform เพราะเป็นพื้นฐานของระบบสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้าของประเทศ หรือถือว่าเป็นปัจจัย 5 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีพันธะสัญญากับประเทศอื่น ๆ ในโลกในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่ามีความพร้อมในทางวิศวกรรมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและขยายธุรกิจให้มีศักยภาพการเติบโตต่อไปในอนาคต

“การเข้าตลาดครั้งนี้จะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จัก และยอมรับระดับประเทศและสากล รวมถึงมีเงินทุนมารองรับการเติบโต สร้างแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และสนับสนุน Smart Grid Technology Platform เดิมด้วย”

*ชูจุดเด่น Holding Company สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

“บริษัทถือว่ามีจุดเด่น จากการเป็น Holding Company ที่มีธุรกิจที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า, เป็นผู้นำในธุรกิจโซลูชั่นครบวงจรของ Smart Grid, มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไฟฟ้ามา 40 ปี มีความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ และการผลิต เทคนิคต่าง ๆ ของระบบไฟฟ้า, มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาศึกษาในธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด, มีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและเป็นพันธมิตรกับชุมชน เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับชุมชน” นายกิตติ กล่าว

บริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน หรือเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยจะเติบโตไปพร้อมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ที่พัฒนาเป็น Smart Grid มากขึ้น เพื่อเข้าไปรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือการซื้อ-ขายไฟฟ้าในรูปแบบ Peer-to-Peer รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะทั้ง Scale และ Scope

บริษัทยังมีแผนจะขยายธุรกิจในรูปแบบเดียวกับประเทศไทยไปในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยมองว่าประเทศดังกล่าวยังมีการเติบโตที่ดี มีความต้องการใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าอีกมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้จากต่างประเทศราว 70 ล้านบาท/ปี เชื่อว่าในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างฯ 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับการรับรู้รายได้ไปจนถึงปีหน้า นอกจากนี้งานผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าฯ ก็ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความคุ้มค่าในการเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในรูปแบบ Feed in Tariff ของภาครัฐที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ากว่า 5,000 เมกะวัตต์

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ในปีหน้าบริษัทฯ คาดว่าธุรกิจจะเติบโตได้ตามที่คาดหวังไว้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตีว แต่สำหรับ PCC มั่นใจว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย

*เติบโตพร้อมอุตสาหกรรม Smart Grid บนตลาดสองแสนล้าน

นายกิตติ กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจหลักจะเป็นไปตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) จากการลงทุนระยะยาวของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่มีแผนการลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาทเฉพาะในส่วนของ Smart Grid ในรอบระยะเวลา 10-17 ปี

ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะมุ่งเน้นการเติบโตในลักษณะการร่วมมือกันกับพันธมิตร เช่น เมื่อมีผู้ประมูลหลายราย บริษัทจะเป็นฝ่ายซัพพลายระบบโซลูชั่นต่าง ๆ ให้ เพื่อคงอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน หากมีผู้ประมูลน้อยราย หรือ 1-2 ราย เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดที่มีมาก บริษัทก็จะแบ่งงานกันตามความสามารถ ไม่ต้องประมูลเพื่อปั่นราคากัน

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นการเพิ่ม Scale เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเป็น 3 เท่าในปีหน้า และเพิ่มสมรรถนะของพนักงาน รวมถึงการเพิ่ม Scope หรือการขยายโรงงานผลิตในประเทศกัมพูชาเพื่อผลิตสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า หม้อแปลงเครื่องวัดและตู้ควบคุมไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ภายหลังจากดำเนินธุรกิจเทรดดิ้งในกัมพูชามาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งยังมองโอกาสขยายธุรกิจไปในลาว เมียนมา ด้วย

*มุ่งหน้าแตกไลน์เข้าสู่สายธุรกิจ-เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

นายกิตติ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่ PCC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission) ขณะเดียวกันก็ยังสนับสนุน Smart Grid Technology Platform เดิม

เบื้องต้นบริษัทจะดำเนินการใน 2 โครงการ ได้แก่ 1) การตั้งโรงงานผลิตต้นกล้าไผ่ ปลูกแม่พันธุ์และลานอนุบาลกล้าไผ่สายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ และสนับสนุนอุตสาหกรรมไผ่ในอนาคต 2) ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์จากเยื่อไผ่ที่ปลอดเคมี ซึ่งปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดจำหน่ายแก่ภัตตาคาร ร้านค้า และผู้จัดเลี้ยง ตลอดจนการขายผ่านช่องทางออนไลน์

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยการขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อนำไผ่ไปทดแทนไม้ที่ไม่ทนทาน หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก

“การจะเติบโตได้เราจำเป็นต้องมีทุนมาสนับสนุน เราต้องใช้เวลาในการสร้าง ไม่ว่าจะเป็น Human Capital, การขยายฐาน Customer Capital รวมถึงเรื่องของฐานข้อมูล ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และ Process Capital ต่อมาก็จะต้องพัฒนาในเรื่องทุนทางความสัมพันธ์ และสุดท้ายคือ Innovation Capital เพื่อรองรับในสิ่งที่คนไทยยังทำไม่ได้ ซึ่งเราต้องการเติบโตทั้งทางการเงิน และชุดทางปัญญาด้วย” นายกิตติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top