In Focus: ส่องทางเลือก “ไบเดน” จัดการสัมพันธ์ซาอุฯ หลังหมางเมินปมลดผลิตน้ำมัน

ภาพ: รอยเตอร์

หลังกลุ่มโอเปกพลัสที่นำโดยซาอุดีอาระเบียลงมติเมื่อต้นเดือนต.ค.นี้ที่จะปรับลดการผลิตน้ำมันลงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไปนั้น ก็ดูเหมือนว่าได้สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐเป็นอย่างมาก และประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐจะต้องทบทวนความสัมพันธ์กับซาอุฯ

ทั้งนี้ ไบเดนมีเคือง เนื่องจากการปรับลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัสจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐทะยานขึ้นอีกในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย. และอาจกระทบต่อเสียงสนับสนุนพรรคเดโมแครตของไบเดน

ทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตกำลังหาทางที่จะลงโทษซาอุฯ โดยมีการเสนอแนะมาตรการต่าง ๆ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐกับซาอุฯ ที่ดำเนินมานานถึง 8 ทศวรรษ

In Focus ในสัปดาห์นี้จะพาไปวิเคราะห์ว่า ไบเดนจะพิจารณาทางเลือกใดในการตอบโต้ซาอุฯ

ผ่านร่างกฎหมาย “โนเปก” (NOPEC)

หลังจากโอเปกพลัสซึ่งนำโดยซาอุฯ ตัดสินใจที่จะปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีกนั้น ทำเนียบขาวได้เปิดเผยว่า ปธน.ไบเดนจะหารือกับสภาคองเกรสเกี่ยวกับการแสวงหาเครื่องมือและอำนาจเพิ่มเติมที่จะลดทอนการควบคุมราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปก และได้ขู่ที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายโนเปก (The No Oil Producing and Exporting Cartels Act – NOPEC) ซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบในการควบคุมราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปก

โนเปกจะยกเลิกการปกป้องกลุ่มโอเปกจากกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐ โดยจะทำให้สหรัฐสามารถฟ้องร้องโอเปก หรือแม้กระทั่งชาติสมาชิกโอเปกพลัส ในกรณีที่มีการจำกัดจำนวนโควตาการผลิต หรือระงับการส่งออก เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น โดยสหรัฐสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับสมาชิกโอเปกที่ทำการฮั้วราคาน้ำมัน

คณะกรรมการวุฒิสภาของสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายโนเปกในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่การผลักดันให้เป็นกฎหมายนั้นยังต้องผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเต็มคณะ และจะต้องได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การผ่านร่างกฎหมายโนเปกนั้นหนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบต่อสหรัฐเองด้วย โดยมีความวิตกว่าการยกเลิกเพดานการผลิตจะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงสู่ระดับต่ำจนถึงขั้นทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐต้องเลิกกิจการ ในขณะที่ซาอุฯ มีต้นทุนการสกัดน้ำมันต่ำที่สุดในโลก ดังนั้นซาอุฯ จะยังคงสามารถทำกำไรได้จากราคาน้ำมันที่ระดับต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำมันของสหรัฐนั้นสูงขึ้นอย่างมาก

ลดการขายอาวุธให้กับซาอุฯ

นายบ็อบ เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาได้เรียกร้องให้ระงับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ซาอุฯ ในทันที รวมถึงยุติการขายอาวุธให้กับซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นักการเมืองจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวนั้น นักการเมืองรายอื่น ๆ กลับแสดงความวิตก โดยระบุว่า จะผลักดันให้ซาอุฯ หันไปซื้ออาวุธจากรัสเซียแทน

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มเปิดเผยว่า สหรัฐเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยอดขายอาวุธให้ต่างประเทศอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 ขณะที่ซาอุฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ โดยซื้ออาวุธจากสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนถึง 24% ของยอดขายทั้งหมด

คาเรน ยัง นักวิชาการวิจัยอาวุโสที่ศูนย์นโยบายพลังงานโลกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเชื่อว่า การระงับขายอาวุธโดยสิ้นเชิงให้กับซาอุฯ นั้น ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น แต่สหรัฐอาจจะจำกัดการขายอาวุธบางประเภทให้กับซาอุฯ แทน

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า ซาอุฯ ได้พยายามที่จะซื้ออาวุธจากแหล่งอื่น ๆ อยู่แล้ว และอาจหันไปซื้ออาวุธจากประเทศอื่น ๆ แทน หากสหรัฐห้ามการขายอาวุธให้กับซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ก็ยังคงเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ที่ซาอุฯ จะเปลี่ยนไปใช้อาวุธของประเทศอื่น ๆ ในระยะกลาง

ถอนทหารสหรัฐออกจากซาอุฯ และ UAE

พรรคเดโมแครตได้เสนอร่างกฎหมายยกเลิกการคุ้มครองของสหรัฐต่อประเทศหุ้นส่วนในอ่าวอาหรับ โดยถอนทหารสหรัฐออกจากซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นสมาชิกอีกรายหนึ่งของกลุ่มโอเปก

แถลงการณ์ระบุว่า “ทั้งสองประเทศพึ่งพาทหารอเมริกันในอ่าวอาหรับเพื่อปกป้องความมั่นคงและแหล่งน้ำมันของพวกเขา” และระบุเสริมว่า “ไม่มีเหตุผลใดที่ทหารของเราจะยังคงให้การปกป้องต่อไปกับประเทศที่ดำเนินการต่อต้านสหรัฐ”

UAE มีทหารสหรัฐประจำการอยู่ประมาณ 3,500 นาย ขณะที่สหรัฐถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากซาอุฯ ในปี 2546 แต่ก็ยังคงให้การสนับสนุนด้านอาวุธจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลเยเมนซึ่งซาอุฯ สนับสนุนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ที่อิหร่านหนุนหลังในเยเมน

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มที่สหรัฐจะถอนทหารออกจากอ่าวอาหรับ เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งอาจถูกแทนที่ด้วยศัตรูของสหรัฐ อาทิ อิหร่าน, จีน และรัสเซีย

“เมื่อชาวอเมริกันพูดถึงความมั่นคงในอ่าวอาหรับ หลายคนลืมไปว่า มันเป็นการปกป้องน้ำมันและก๊าซจากอ่าวอาหรับ ไม่ใช่การปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ”

อาลี ชิฮาบี นักเขียนและนักวิเคราะห์ชาวซาอุดีอาระเบียกล่าว

“สิ่งนี้ตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐ และไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์กับประเทศต่าง ๆ อย่างจีน ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมันที่มาจากอ่าวอาหรับเท่านั้น แต่ยังรวมถึงญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรปด้วย”

นายอาลีกล่าว

ส่วนนายเดวิด เดส โรเชส ศาสตราจารย์ที่ศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอดีตเจ้าหน้าที่เพนตากอนที่ทำงานในตะวันออกกลางกล่าวว่า ทหารสหรัฐได้ช่วยเหลือซาอุฯ หลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายพลเรือนในสงครามเยเมน และหากความสัมพันธ์ด้านกลาโหมถูกตัดขาดก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งจะทำให้ชื่อเสียงของสหรัฐเสียหายในฐานะที่เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคง

ทางเลือกอื่น ๆ ที่จะลงโทษซาอุฯ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทางเลือกทั้งหมดที่นักการเมืองสหรัฐเสนอเพื่อลงโทษซาอุฯ นั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง และทำเนียบขาวอาจจะเลือกใช้มาตรการรักษาหน้าอื่น ๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า

“ฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังยกระดับความตึงเครียดนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นกลยุทธ์ที่อันตราย โดยทำให้ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำมันเพียงอย่างเดียว และอาจจะลงเอยด้วยการประกาศลดการขายอาวุธ”

นางยังกล่าว

นายเดส โรเชสกล่าวว่า การประชุมระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่ซาอุฯ และสหรัฐ อาจจะหยุดชะงักไปสักระยะ และภารกิจต่าง ๆ ระหว่างกันนั้นจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ในระดับที่ต่ำลงมา

“มีเหตุผลว่าทำไมความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ และสหรัฐจึงไม่ถึงกับขาดสะบั้นนับตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์นั้นมีรากฐานมาจากผลประโยชน์ และผลประโยชน์นั้นก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง”

นายเดส โรเชสกล่าว

แม้ปธน.ไบเดนแสดงความผิดหวังอย่างมากกับมติของโอเปกพลัส แต่ซาอุฯ ก็ยังยืนยันว่า การตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันนั้นคำนึงถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลักเพื่อรักษาสมดุลของอุปทาน-อุปสงค์ และควบคุมความผันผวนของตลาด อันจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ซาอุฯ ก็ยังคงเชื่อว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐนั้นมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ต้องการให้ความสัมพันธ์นั้นอยู่บนพื้นฐานของความเคารพต่อการตัดสินใจซึ่งกันและกันด้วย…เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ความบาดหมางระหว่างสหรัฐและซาอุฯ ในครั้งนี้จะมีบทสรุปอย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top