นายประยูร อินสกุล รักษาการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ว่า ได้เตรียมเสนอโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติจากสถานการณ์ฝนตกชุกสะสม และพายุดีเปรสชันโนรู ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 59 จังหวัด
ขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ 31 จังหวัด และยังประสบอุทกภัย 28 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและโอกาสในการสร้างรายได้ที่เกษตรกรควรจะได้รับ ทำให้กระแสเงินสดในมือของเกษตรกรลดลง ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมทั้งเร่งปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และการเพาะปลูกตามแผนบริหารจัดการน้ำ โดยจากการสำรวจผลกระทบด้านการเกษตร มีดังนี้
– ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 56 จังหวัด เกษตรกร 531,703 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 4,505,862 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2,991,705 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,473,553 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 40,604 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 75,874 ราย พื้นที่ 730,327 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 556,677 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 170,077 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 3,573 ไร่ คิดเป็นเงิน 1,097.16 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 765 ราย พื้นที่ 3,350 ไร่ วงเงิน 5.81 ล้านบาท
– ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 42 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 22,854 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 26,116 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 25,750 ไร่ บ่อกุ้ง 366 ไร่ กระชง 11,172 ตรม. สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 537 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย 521 ไร่ กระชัง 11 ตร.ม. คิดเป็นเงิน 2.93 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 156 ราย พื้นที่ 264 ไร่ วงเงิน 1.52 ล้านบาท
– ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 16 จังหวัดเกษตรกร 21,625 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 1,337,182 ตัว แบ่งเป็น โค 52,412 ตัว กระบือ 15,378 ตัว สุกร 13,040 ตัว แพะ/แกะ 2,856 ตัว สัตว์ปีก 1,253,496 ตัว แปลงหญ้า 2,243 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 424 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 480 เครื่อง เครื่องจักรอื่นๆ 20 เครื่อง และกระสอบทราย 12,000 กระสอบ ส่วนกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการอพยพสัตว์ 20,391 ตัว แจกจ่ายหญ้าพระราชทาน 338.26 ตัน อาหาร TMR 6.50 ตัน สร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 1,002 ตัว รักษาสัตว์ 51 ตัว และสนับสนุนถุงยังชีพสัตว์ 601 ชุด และกรมประมง สนับสนุนเรือตรวจการ 57 ลำ รถยนต์ 50 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ 301 ราย
ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย และตรวจสอบข้อมูลหรือเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งเตรียมเสนอโครงการหรือมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และได้เตรียมจัดพื้นที่ให้เกษตรกรได้นำสินค้าเกษตรมาขายที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ภายหลังสถานการณ์น้ำกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ได้เตรียมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง (ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง) และเตรียมให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถทำการผลิตได้ตามแผนการบริหารจัดการน้ำฯ ซึ่งจะมีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 65)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ช่วยเหลือเกษตรกร, น้ำท่วม, ประยูร อินสกุล, ภัยพิบัติ