Decrypto: P2P กับความเสี่ยงทางกฎหมาย

หนึ่งในบริการบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) จากต่างประเทศที่แม้ยังไม่ได้รับรองหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลในประเทศไทย บริการหนึ่งที่เป็นที่นิยมของนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลชาวไทย คือ การซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลและเงิน (Fiat) กันโดยตรงผ่านบริการของ Exchange โดยลูกค้าหรือผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินผ่านธนาคาร หรือ Paypal หรือแม้กระทั่ง True Wallet เป็นต้น ซึ่งจากที่กล่าวไปแล้วว่าการบริการของ Exchange ต่างประเทศที่มีบริการ P2P และยังไม่ได้ไม่ได้รับรองหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลในประเทศไทยนั้น ๆ ก็อาจจะเข้าข่ายการให้บริการที่ผิดกฎหมายบางประการ รวมถึงผู้ใช้บริการที่โดยปกติแล้วจะไม่มีความผิด เช่น การซื้อขาย การเล่น Future หรือการฝากสินทรัพย์ดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะบางประการของ P2P ผู้ใช้บริการอาจกำลังกระทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

โดยพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 นั้นได้กำหนดเอาไว้โดยชัดแจ้งว่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลแม้ที่ได้ออกไว้แล้วและมีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอขายเป็นการทั่วไป ผู้ที่จะเสนอขายต้องได้รับอนุญาต และกระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เช่นนั้นแล้วจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งโทษดังกล่าวนั้นมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ นอกจากนั้นแล้วกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดไว้ด้วยว่าให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วย

ซึ่งลักษณะของบริการ P2P ดังกล่าว ผู้เสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสนอขายจำนวน และราคาต่อสาธารณะให้บุคคล ๆ ที่ต้องการซื้อหรือขายเข้าติดต่อและชำระราคากันโดยตรงและนิติกรรมทั้งสิ้นเกิดหรือประสงค์ให้เกิดในประเทศไทย เข้าข่ายการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือผู้เสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่อสาธารณะในประเทศไทยและไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายไทยกล่าวคือผู้เสนอขายไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลในประเทศไทย จึงอาจมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งต่างจากการซื้อขายระหว่างบุคคลต่อบุคคล (OTC) ที่เป็นการซื้อขายซึ่งหน้ากันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ได้มีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะอันถือว่าเป็นการซื้อขายเฉพาะรายไม่ได้มีการเสนอขายเป็นการทั่วไป

นอกจากนั้นแล้ว กรณีเป็นลูกค้าหรือผู้ต้องการเอาเงินไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเอาสินทรัพย์ดิจิทัลไปขายเป็นเงินผ่านช่องทาง P2P ลูกค้าอาจจะมีความเสี่ยงเข้าเป็นหนึ่งในกระบวนการฟอกเงิน เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ อาจได้มาด้วยการกระทำความผิด เช่น ได้มาจากการค้ายาเสพติด ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจสืบเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิดมายังลูกค้า หรือในทางกลับกันหากลูกค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลไปขายก็ไม่มีทางทราบได้ว่าเงินที่นำมาซื้อได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

ดังนั้นแล้วผู้ที่ประสงค์ซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ P2P ดังกล่าวจึงควรพิจารณาข้อกฎหมายและรูปแบบวิธีการดังกล่าวได้ละเอียด ซึ่งนอกจาก Exchange ที่ให้บริการในต่างประเทศที่มีบริการ P2P นั้นจะไม่ได้ถูกกำกับดูแลตามกฎหมายและหน่วยงานของประเทศไทยแล้ว การเข้าใช้บริการ P2P ดังกล่าวผู้ใช้บริการเองก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกฎหมายเสียเองอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้การซื้อขายและเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงิน (Fiat) ไม่ได้มีความยุ่งยากเหมือนในอดีต มีผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในประเทศไทยจำนวนมาก มีช่องทางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงิน (Fiat) จากผู้ให้บริการในประเทศไทยกับผู้ให้บริการในต่างประเทศโดยไม่ต้องอาศัยบริการ P2P ดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ที่มีความประสงค์ซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องเสี่ยงกระทำผิดต่อกฎหมายดังกล่าวอีกต่อไป

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top