ธปท. ย้ำดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น ทยอยขึ้นดอกเบี้ย ไม่ทำเศรษฐกิจสะดุด

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565 ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่า ในการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ 1. เงินเฟ้อของทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.8% 2. เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้-ปีหน้า โดยคาดว่าจะมีจำนวนประเทศ 1 ใน 3 ของโลกที่เศรษฐกิจอาจเติบโตต่ำกว่า 2% และ 3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-สหรัฐ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่ธนาคารกลางของทั่วโลก กำลังมุ่งดำเนินนโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และสูงสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งมีผลกระทบส่งต่อมายังเศรษฐกิจของทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยเอง นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพและระบบการเงินโลก ทำให้เห็นสัญญาณความอ่อนไหวของหลายตลาด เช่น ตลาดพันธบัตรในอังกฤษ ตลาดพันธบัตรในสหรฐที่มีความไม่ปกติ จึงนับเป็นความเสี่ยงที่ธนาคารกลางของทุกประเทศต้องดูแลให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองผ่านพ้นความเสี่ยงนี้ไปให้ได้

“สิ่งที่จำเป็น คือ ธนาคารกลางควรจะต้องมองทะลุความไม่แน่นอนเหล่านั้น และไม่เพิ่มความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินให้มากขึ้นไปอีกจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่ นโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป…นโยบายการเงินของไทย จึงมุ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด ไม่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติม ซึ่งต่างจากบริบทของสหรัฐ ที่ต้องการดึงเศรษฐกิจให้ชะลอเพื่อลดความร้อนแรง และดึงเงินเฟ้อลง ในขณะที่ของเราอยากให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจยังโตไม่เท่ากับตอนก่อนโควิด ยังห่างไกลระดับศักยภาพ เราจึงต้องถอนคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป”

นายปิติ กล่าว

นายปิติ ยังชี้แจงถึงกรณีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ปรับลดลงว่า โดยหลักการแล้ว เงินทุนสำรองฯ จะลดลงได้จาก 2 ปัจจัย กล่าวคือ 1.จากการตีราคาที่ลดลง และ 2.จากการเข้าดูแลค่าเงิน ซึ่งที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่ที่เงินทุนสำรองฯ ของไทยลดลง จะมาจากกรณีของการตีราคาที่ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก

“เรามองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับไปตามปัจจัยพื้นฐาน จะเป็นกลไกที่ดีในการรับแรงกระแทกจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ตอนนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินยังสะท้อนปัจจัยพื้นฐาน”

นายปิติกล่าว

พร้อมระบุว่า กนง. จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินให้ตลาดสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ ไม่ต้องการจะเซอร์ไพร์สตลาด แต่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้ยาก ดังนั้นการจะให้ผูกมัดลงไปชัดเจนว่าจะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมนัก

“สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ อาจไม่สามารถทำตามที่เคยบอกไว้ได้ ดังนั้น การสื่อสารของ กนง.จึงขอให้น้ำหนักกับการติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจในอนาคต เราไม่อยากจะผูกมัดคำพูดไว้ เพราะจะทำให้กลายเป็น Policy uncertainty”

นายปิติระบุ

พร้อมมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังขึ้นต่อไปอีกระยะ แต่จะไปหยุดตอนไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นว่าจะเป็นอย่างไร และเห็นว่าคงอีกสักระยะกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ โดยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง – 2 ปี

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมของปีนี้ และแนวโน้มปี 66 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 65 และ 66 จากแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ 3.3% และปี 66 ที่ 3.8% ซึ่งในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3 หลังจากที่มีการเปิดประเทศ คาดว่าทั้งปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปี 66 ขณะที่ผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้แรงงานฟื้นตัวและกระจายในหลายสาขามากขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

“ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปรับมาเป็นสมดุล โดยมีปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากกว่าคาด และการลงทุนที่อาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด ในขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึงปัญหา Global supply disruption ที่คลี่คลายช้ากว่าคาด”

นายสักกะภพ กล่าว

อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ที่ ธปท.ประเมินไว้ที่ 3.3% นั้น ยังไม่รวมผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย แต่จากที่ประเมินในเบื้องต้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อุตสาหกรรมมากนัก ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาวะน้ำท่วมจะมีผลต่อ GDP ไม่มาก ซึ่งขณะที่ ธปท.ขอรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะทยอยลดลงในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 6.3% และปี 66 อยู่ที่ 2.6% แต่ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้าหมวดพลังงาน-อาหารสด) จะปรับเพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปี 66 ตามการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ จะอยู่ที่ 2.6% และปีหน้าอยู่ที่ 2.4%

ส่วนตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ คาดว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น -14.4 พันล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ขาดดุลอยู่ที่ -8 พันล้านดอลลาร์ แต่จะทยอยขาดดุลน้อยลง จนสามารถกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ราว 3.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 66 หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ของไทยยังมีจำกัด จากวัฏจักรเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และความต้องการบริโภคสินค้าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแตกต่างจากบริบทของเศรษฐกิจในหลายประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ มองว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของไทย ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตามเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์เงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีการอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า อย่างไรก็ดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงนี้ ยังสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นได้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ติดตามสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และพบว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าอย่างผิดปกติ โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าไป 12-13% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากต้นปีถึง 18%

“เงินบาทอ่อนไป 12-13% จากต้นปี ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ของภูมิภาค เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าผิดปกติ แต่มันเกิดขึ้นเหมือนกันในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่…หากเงินบาทเคลื่อนไหวจนมีนัยต่อเศรษฐกิจ ธปท.ก็ยังสามารถดูแลได้ เพราะมี capacity ที่ทำได้ เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง เราจะเข้าไปดูแลเมื่อค่าเงินบาทผันผวนอย่างผิดปกติจนไม่สามารถอธิบายได้โดยปัจจัยพื้นฐาน”

นายสุรัช ระบุ

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเป็นแนวทางที่เหมาะสม และ กนง.พร้อมที่จะปรับขนาด และเงื่อนเวลา ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ประเมินไว้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top